ดีเอสไอผุดโปรแกรมวิเคราะห์นอมินีต่างด้าว

ดีเอสไอผุดโปรแกรมวิเคราะห์นอมินีต่างด้าว

"ดีเอสไอ" ผุดโปรแกรมวิเคราะห์การกระทำความผิดต่างด้าว สกัดทุนต่างชาติใช้นอมินีบังหน้า แฝงทำธุรกิจ นำร่อง 4 จังหวัดท่องเที่ยว ชี้ช่วยเจ้าหน้าที่วางแผนปฎิบัติงานคดีสรุปสำนวนเอาผิดได้เร็วขึ้น

พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานเปิดโครงการแนวทางการพัฒนาการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ด้วยการใช้โปรแกรมวิเคราะห์การกระทำความผิดแบบบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม โดยมี สภ.เมืองพัทยา สภ.หนองปรือ สภ.บางละมุง สภ.นาจอมเทียน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.ชลบุรี สรรพากรพื้นที่ชลบุรี 3 พาณิชย์จ.ชลบุรี ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตำรวจภูธร และกลุ่มงานความมั่นคง จ.ชลบุรี และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 2 เข้าร่วมการอบรม

พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวว่า ไทยเป็นสมาชิกกับกลุ่มประชาคมอาเซียนทำให้มีการเปิดเสรีด้านการลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพบว่า ได้มีธุรกิจแฝงหรือบริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย และเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการธุรกิจของคนไทย ซึ่งยังไม่มีความพร้อมแข่งขัน หรือมีแลกเปลี่ยนการค้ากันอย่างเป็นธรรมเหมาะสมระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ รัฐไทยจึงตราพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเพื่อใช้เป็นกฎหมายในการควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย โดยระบุว่า ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายกฎหมาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อน

“นักลงทุนต่างชาติที่กำลังจะมาลงทุนในไทยอาจเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เพราะต้องถูกแยกเป็นคนต่างด้าว และมาตรฐานการทำธุรกิจต่างๆ อาจไม่เหมือนคนไทย จึงเกิดความพยายามทำให้บริษัทเป็นนิติบุคคลไทยไม่แท้ หรือหาตัวแทนเชิด และมีความพยายามตั้งบริษัทโดยใช้คนไทยเป็น นอมินีเข้าถือหุ้นแทนคนต่างชาติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก”รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าว

พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวดีเอสไอจึงตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาถึงปัญหาการฝ่าฝืนกฎหมายของคนต่างชาติปี 2560 โดยร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการปกครอง กรมสรรพากร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกแบบและสร้างนวัตกรรมเครื่องมือโปรแกรมวิเคราะห์การกระทำความผิด โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานคดี มีโปรแกรมแสดงผลเป็นภาพในลักษณะเป็นเส้นเวลา (Timeline) ให้เห็นพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดสามารถนำไปวางแผนการปฏิบัติงานคดีได้ สามารถทำงานบนระบบของโปรแกรมได้ทุกสถานที่ที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต สามารถสรุปสำนวนคดีได้รวดเร็ว ดีเอสไอจึงนำร่องเปิดอบรมเจ้าหน้าที่ให้ใช้โปรแกรมวิเคราะห์การกระทำความผิดใน 4จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน