จีนใช้ ‘การทูตกล้วย’ พิชิตใจฟิลิปปินส์
กล้วยถือเป็นวาระสำคัญที่สุดในการเจรจาการค้าในขณะนี้ระหว่างฟิลิปปินส์กับเกาหลีใต้ และบรรดาผู้ส่งออกกำลังเตรียมเพิ่มการส่งผลผลิตไปยังรัสเซีย รวมถึงตลาดที่เข้าถึงยากอย่างออสเตรเลียที่กำลังพิจารณาเรื่องการนำเข้ากล้วยฟิลิปปินส์
ณ ฟาร์มกล้วยพื้นที่ 6,250 ไร่แห่งหนึ่งในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ คนงานวัยกลางคนหลายสิบคนร้องเพลงเก่าที่เคยฮิตติดหูอย่าง “โฮเท็ล แคลิฟอร์เนีย” ขณะกำลังเตรียมกล้วยที่เลือกมาสดๆ สำหรับส่งออกไปประเทศจีน
“ในช่วงบ่าย จะต้องเปิดเพลงดิสโก้” ไนออล บิโอล ผู้จัดการฟาร์มกล้วยใน จ.ดาเวา เดล นอร์เต เผยกับเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว และว่า “การเปิดเพลงเสียงดังช่วยให้คนงานตื่นตัว มีสมาธิและขยันขันแข็ง พวกเขาต้องการแรงกระตุ้นเพื่อรับมือกับความต้องการที่สูงขึ้นจากแดนมังกร”
จีน กลายเป็นผู้นำเข้ากล้วยฟิลิปปินส์รายใหญ่ที่สุดเมื่อปีที่แล้ว แซงหน้าญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดมานานหลายสิบปี บริษัทบางรายเลี่ยงญี่ปุ่นเพื่อไปทำสัญญาป้อนสินค้าแบบ 1 ปีเต็มกับบรรดาผู้นำเข้าของจีนแทน
เนื่องด้วย 2 เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียกำลังแข่งขันชิงอิทธิพลในฟิลิปปินส์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตอกย้ำว่ารัฐบาลมะนิลาพึ่งพาจีนแทนญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่รัฐบาลโตเกียวผลักดันโครงการทางรถไฟหลายสายเพื่อชิงความได้เปรียบในโครงสร้างพื้นฐาน แต่รัฐบาลปักกิ่งก็รุกด้านเกษตรกรรมหนักขึ้น 2 เท่า
“จีนไม่ได้ทำอย่างนี้เพียงเพราะพวกเขาต้องการกล้วยของดาเวาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับแง่มุมทางการเมืองด้วย” เฮอร์มัน คราฟท์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าว
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเริ่มใช้ “การทูตกล้วย” เมื่อประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์เยือนกรุงปักกิ่งในเดือน ต.ค. 2559 ซึ่งระหว่างการเยือนนี้ ดูเตอร์เตประกาศว่าฟิลิปปินส์ “ตัดขาด” จากสหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของตนแล้ว ด้านผู้นำจีนก็ให้คำมั่นว่า จะนำเข้าผลไม้จากฟิลิปปินส์มากขึ้นและจะลงทุนในประเทศมูลค่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์
ข้อมูลจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว จีนซื้อกล้วยฟิลิปปินส์ 496 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 71% จากปี 2560 ขณะที่คำสั่งซื้อจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 24% มาอยู่ที่ 485 ล้านดอลลาร์
“ในแง่หนึ่ง กล้วยกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไปแล้ว” คราฟท์เผย
ความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจระหว่างปักกิ่งกับมะนิลาไม่ได้หวานชื่นมาตลอด ด้วยข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลที่เคยส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ปลูกกล้วยท้องถิ่น
หลังเกิดภาวะตึงเครียดระหว่างกองทัพเรือจีนกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ใกล้หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ เมื่อเดือน เม.ย. 2555 รัฐบาลปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยการสั่งห้ามนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์
จีนอ้างว่ากล้วยฟิลิปปินส์เต็มไปด้วยรอยถูกศัตรูพืชกัดกินอย่างไรก็ตาม สตีเฟน อันติก กรรมการบริหารสมาคมผู้ปลูกและผู้ส่งออกกล้วยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเรื่อง “การเมืองล้วน ๆ”
“ก่อนหน้านั้น กล้วยมีรอยแมลงกัดกินเหมือนกัน แต่พวกเขา (จีน) ก็ไม่เคยปฏิเสธกล้วยของเรา” อันติกเผย และว่า “แต่พอเราเริ่มอ้างว่าหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์เป็นของเรา พวกเขาก็เข้มงวดขึ้นทันที”
เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม กล่าวว่า เป็นช่วงเวลายากลำบากที่ต้องปล่อยให้ฟาร์มเต็มไปด้วยกล้วยเน่าเสียและการขนส่งกล้วยตกค้างที่ท่าเรือ
“ในช่วงนั้น มีหลายบริษัทล้มละลาย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับหลายฝ่าย” ฮัน ดา เบ ประธานสมาคมเกษตรกรและผู้ส่งออกกล้วยมินดาเนาซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้าที่เน้นตลาดจีน กล่าว
รัฐบาลมะนิลายื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2556 ให้ตัดสินข้อพิพาททางทะเลนี้ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับปักกิ่งมึนตึง ไม่กี่เดือนก่อนที่ดูเตอร์เตจะชนะเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2559 ทางการจีนได้ทำลายกล้วยฟิลิปปินส์รวม 35 ตัน มูลค่า 3.3 หมื่นดอลลาร์ เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานสุขลักษณะ
อย่างไรก็ตาม การหันไปซบจีนของดูเตอร์เตก็ช่วยคลายความตึงเครียดลงได้ ขณะนี้ ทางการจีนให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการนำเข้ากล้วยและผลไม้อื่น ๆ ทุกครั้งที่มีการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 ฝ่าย และประธานาธิบดีสีก็ดำเนินการแบบเดียวกันในการประชุมกับดูเตอร์เตเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นกำลังจำกัดการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ หลังจากเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่พบกล้วยกล่องหนึ่งที่มีปริมาณวัตถุกันเสียเกินกำหนด ทำให้ในปีนี้มีการสุ่มตรวจกล้วยฟิลิปปินส์ทั้งหมดซึ่งเพิ่มต้นทุนให้กับบรรดาผู้ส่งออก
ในขณะที่ทางการฟิลิปปินส์กำลังหาทางโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นผ่อนปรนเรื่องนี้ บริษัทท้องถิ่นบางรายก็เลือกที่จะออกจากตลาดญี่ปุ่นแทน
ราฟฟี กีย์กอง เจ้าหน้าที่บริษัทเออาร์อาร์ อะกริบิสสิเนสซึ่งดูแลฟาร์มกล้วยพื้นที่ 525 ไร่ใน จ.ดาเวา เดล นอร์เต กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทของเขาดำเนินการส่งออกผลผลิตทั้งหมดของตนไปจีน หลังจากเคยส่งออกผลผลิต 30% ของตนไปญี่ปุ่น ซึ่งเก็บภาษีนำเข้า 8-18% ขณะที่การส่งออกไปจีนนั้นปลอดภาษี
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว บรรดาผู้ส่งออกจะแข่งกันดึงดูดผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นที่ต้องการกล้วยฟิลิปปินส์เกรด เอ ที่ราคาแพงกว่ากล้วยเกรด บี 30-40% ซึ่งช้ำกว่าเล็กน้อย แต่ปัจจุบัน ชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวของจีนต้องการผลไม้ระดับพรีเมียม ทำให้แดนมังกรเป็นตลาดที่น่าสนใจกว่าตลาดญี่ปุ่นซึ่งจำนวนประชากรที่หดตัวลงทำให้ยอดการส่งออกจำกัด
การส่งออกกล้วยฟิลิปปินส์มีมูลค่ารวม 1,400 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ทำให้ประเทศเป็นผู้ส่งออกกล้วยรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากเอกวาดอร์ อุตสาหกรรมนี้จ้างแรงงานราว 4 แสนคน รวมถึงนักโทษ หลายคนมาจากภูมิภาคดาเวาในเกาะมินดาเนา ทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของดูเตอร์เต ผู้ส่งออกกล้วยบางรายยังเคยสนับสนุนการหาเสียงของเขาในเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 ด้วย
คราฟท์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยกับดาเวา บ่งชี้ว่า การซื้อกล้วยเพิ่มขึ้นถือเป็นหนทางสำหรับจีนในการสร้างความได้เปรียบทางการทูต“สำหรับดูเตอร์เต การเมืองยังเป็นเรื่องท้องถิ่น ต้องคำนึงว่าสุดท้ายแล้ว ประชาชนในดาเวาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง”
นอกจากนั้น ปักกิ่งยังตกลงให้เงินสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในมินดาเนามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะที่ญี่ปุ่นพุ่งเป้าไปที่โครงการทางรถไฟในกรุงมะนิลา
“ทุกครั้งที่ดูเตอร์เตไปต่างประเทศ เขาเป็นเหมือนกับเซลส์แมนที่พยายามจะขายกล้วยของฟิลิปปินส์ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน” อันติกกล่าว