นักวิชาการไทยวิเคราะห์ตอนจบ “ม็อบฮ่องกง”
ความตึงเครียดในฮ่องกงจากสถานการณ์การชุมนุมประท้วงที่บานปลายไปถึงขั้นสกัดกั้นระบบขนส่งมวลชน ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ปัญหานี้จะจบลงตรงไหน และเบื้องหลังการชุมนุมมีชาติตะวันตกเข้าไปชักใยเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร บอกว่า ข้อสังเกตว่าอาจมีชาติตะวันตกหนุนหลังการชุมนุมประท้วงนั้น จริงๆ แล้วจีนเป็นฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตเอง ซึ่งในที่นี้คนที่ติดตามข่าวสารก็รู้กันว่าหมายถึงสหรัฐ
เนื่องจากเมื่อวิเคราะห์ผู้ชุมนุมแล้วพบว่าดำเนินการกันเป็นขบวนการ ไม่ใช่การเดินแบบกลุ่มเดียว แต่มีการวางแผนอย่างแยบยล ทั้งเลือกสถานที่ และรูปแบบ จุดนี้เองทำให้จีนมั่นใจว่าไม่ใช่แค่การประท้วงโดยคนฮ่องกงคิดเองทำเองทั้งหมดแน่ และการที่มองว่าสหรัฐน่าจะอยู่เบื้องหลัง ก็มีเหตุผลสนับสนุน 3 ประการ คือ
1. ตัวประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบาย America First และทรัมป์เองเป็นคนขวาจัด ทีมทำงานที่ทรัมป์เลือกมาก็เป็นแบบเดียวกัน ความที่ต้องการเป็นที่หนึ่งของทรัมป์ จึงยอมให้จีนแซงหน้าไม่ได้ ทรัมป์มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวจริงๆ ดูได้จากการใช้งบประมาณไปเยอะ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และเพื่อรักษาอำนาจของอเมริกา ดูตัวเลขงบที่ใช้แล้วเยอะกว่าสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา มาก
2. ต่อเนื่องจากข้อแรก เมื่อทรัมป์เห็นนโยบายขยายความเจริญและความร่วมมือของจีนที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดี ทั้ง South China Sea หรือทะเลจีนใต้ที่เป็นเส้นทางเดินเรือที่มีน้ำมันมหาศาลอยู่ใต้ทะเล รวมถึงโครงการ One Belt One Road ที่จีนสามารถหาพันธมิตรได้เพิ่ม ยิ่งทำให้ทรัมป์ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะทรัมป์ไม่อยากเป็น นัมเบอร์ ทู หรือเป็นที่สองนั่นเอง
3. เมื่อสถานการณ์ของจีนดูจะไปได้สวย สหรัฐเองจึงต้องคิดยุทธการแก้เกมในการชิงความเป็นหนึ่ง วิธีการคือทรัมป์ดึงศัตรูของจีนมาเป็นมิตร นั่นคือ ญี่ปุ่น พร้อมทั้งถอนนทหารออกจากตะวันออกกลาง ทิ้งยุโรป มุ่งเป้าขยายวงล้อมมาที่ฝั่งอินโดแปซิฟิก รวมแล้วสหรัฐจะมีสมัครพรรคพวกคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย เพื่อถ่วงดุลกับจีนทั้งหมดนี้คือเหตุผลสนับสนุนว่ามีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐจะอยู่เบื้องหลัง คอยสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง
คำถามต่อมาคือเป้าหมายสูงสุดของการชุมนุมครั้งนี้คืออะไรและจีนจะแก้เกมอย่างไร อ.สุรชัย วิเคราะห์ว่า หากสหรัฐอยู่เบื้องหลังการชุมนุมจริง ก็คงต้องการให้สถานการณ์ที่ฮ่องกงปั่นป่วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลประกอบว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไรกันแน่ นอกจากอยากเห็นความวุ่นวาย
ส่วนฝั่งจีน แน่นอนว่าจีนต้องยืนยันในอธิปไตย และต้องคอยปรามการชุมชุม ท้ายที่สุดคือใครไม่ยอมรับก็ต้องออกไป อยู่ไม่ได้ ถ้าเราย้อนดูประวัติศาตร์ เทียนอันเหมิน ก็เคยนองเลือดมาแล้ว เพราะ “เรื่องอธิปไตย ตายเป็นตาย”
แต่อาจารย์สุรชัยก็ประเมินว่ าสถานการณ์ ณ ตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ยังไม่ถึงขนาดเทียนอันเหมิน เพราะเท่าที่เห็นคือ จีนก็พยายามใช้ “ไม้นวม” ด้วยการ จับ สกัด หัวหน้าขบวนการชุมนุมที่มีเป็นกลุ่มๆ เพื่อเอามาขัง มาอบรม ควบคู่ไปกับตอบแทนกลุ่มที่ยังสนับสนุนจีน ดูแล้วจีนก็พยายามข่มความโกรธได้มาก อย่างตอนที่มีคนเอาธงชาติจีนไปทิ้งทะเล จีนก็ยังไม่เดือดมาก เพราะฉะนั้นการสงบศึกครั้งนี้ จะจบสวยหรือไม่สวย ขึ้นอยู่กับว่าจีนจะแก้ไขด้วยวิธีละมุนละม่อมแค่ไหน
ส่วนประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุของสถานการณ์นี้ อาจารย์สุรชัย กลับมองว่า ไม่ได้เชื่อมโยงกับเรื่องชุมนุมที่ฮ่องกงโดยตรง เพราะจีนเคยประกาศแล้วว่า จีนพยายามตกลงกับสหรัฐหลายครั้ง แต่ทุกครั้งสหรัฐตั้งใจกลับกลอก ทำให้ดีลไม่สำเร็จเสียที และจีนเองก็ไม่ได้มีศักยภาพถึงขั้นสร้างความปั่นป่วนให้สหรัฐได้ ทุกครั้งที่จีนเจรจาความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน ก็จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ทำแล้ว “วิน-วิน” ทั้งสิ้น