'รมช.สธ.' สั่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่อีอีซี
"รมช.สธ." ให้เขตสุขภาพที่ 6 จัดระบบดูแลสุขภาพประชาชนใน 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซี มีสุขภาวะดี และมีผลิตภาพสูง มอบนโยบายทิศทางการพัฒนาศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมระยอง ในทศวรรษหน้า
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.62 ที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายทิศทางการพัฒนาศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมระยองในทศวรรษหน้า ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เขตสุขภาพที่ 6 จัดระบบดูแลสุขภาพแบบพิเศษ (Smart Public Health Services for EEC Citizen) เพื่อให้ประชาชนใน 3 จังหวัดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) มีสุขภาวะดีและมีผลิตภาพสูง เข้าถึงบริการสาธารณสุข ทั้งในด้านการรักษา ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ โดยกำหนดทิศทางการดูแลประชาชนของศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมในทศวรรษหน้า ต้องมีระบบเฝ้าระวัง ติดตามตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปในเขตควบคุมมลพิษตามความเสี่ยงปีละ 1 ครั้ง เน้นการศึกษาแบบกึ่งวิจัยในประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพคลินิกโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้บริการตรวจสุขภาพ วินิจฉัย และรักษาโรคที่เกิดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ เพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ อุบัติภัย จากสารเคมี
รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Public Health Watch center) สนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประชาชนใน 3 จังหวัด EEC ซึ่งประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สนับสนุนให้เกิดกลไกในการจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำนโยบายด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระบบควบคุมกำกับติดตาม การควบคุมปัญหาให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดระบบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอาชีวเวชศาสตร์ พยาบาลอาชีวอนามัย และการวิจัยในพื้นที่
ด้านนายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระยอง (โรงพยาบาลมาบตาพุด) ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินงานใน 6 ภารกิจ ได้แก่ งานตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ปี 2553-2562 มีผู้รับบริการตรวจสุขภาพ 7,000-20,000 รายต่อปี และส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษา งานโต้ตอบอุบัติภัยสารเคมี เช่น สารเคมีรั่วไหล เหตุระเบิดจากสารเคมี อุบัติเหตุจากการขนส่งสารเคมี คลินิกโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้รับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี งานศูนย์ข้อมูลสุขภาพได้รวบรวมข้อมูลตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด งานห้องปฏิบัติการทางพิษวิทยา เพื่อตอบสนองสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพ และงานวิจัย มีการวิจัยในพื้นที่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับประเทศและต่างประเทศ