คนไทยฆ่าตัวตายพุ่งวันละ '12ราย'
กรมสุขภาพจิต ห่วงปัญหาฆ่าตัวตายของคนไทย พบจำนวนเพิ่ม เฉลี่ย 11-12 รายต่อวัน ชี้สื่อนำเสนอข่าวบ่อย ติงควรแนะทางออกแทนการอธิบายรายละเอียดวิธีการฆ่าตัวตายที่เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงว่า จากภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศ อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน แบ่งเป็นชาย 3,327 คน คิดเป็น 80% และเป็นหญิง 810 คน คิดเป็น 20% และพบว่า วัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด 74.7% รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 22.1%และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี 3.2% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย
โดยปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิดพบ 48.7% ความรัก หึงหวง 22.9% และต้องการคนใส่ใจ ดูแล 8.36% ส่วนปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า มีปัญหาการดื่มสุรา 19.6% มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง 6% และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต 7.45% โรคซึมเศร้า 6.54% และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ 12%
นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังกังวลต่อการนำเสนอข้อมูลจากสื่อมวลชน หลังจากที่ผ่านมาพบข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายแบบรมควันนั้น ที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังเสพข่าวที่บรรยายถึงวิธีการโดยละเอียดจากสื่อซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย
สำหรับวิธีป้องกัน ขอให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง ตามหลัก 3 ส. คือ
1. สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย
2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก
3. ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทรปรึกษาสะมาริตันส์ 02-713-6793 เวลา 12.00-22.00 น. รวมถึงแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) แนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กรมสุขภาพจิต เปิดเวทีนานาชาติแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดการทำงานให้มีสุขภาพจิตดี
-5 อันดับปัญหาเด็กไทย
-กรมสุขภาพจิต เปิดเวทีโชว์นวัตกรรมสุขภาพจิต เชิดชู 39 เครือข่ายสุขภาพอำเภอ