หวังสหรัฐเจรจาการค้าจีนหนุนดาวโจนส์พุ่งกว่า 300 จุด

หวังสหรัฐเจรจาการค้าจีนหนุนดาวโจนส์พุ่งกว่า 300 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี(29ส.ค.)ทะยานกว่า 300 จุด หลังจากที่จีนยืนยันว่ากำลังหารือกับสหรัฐเกี่ยวกับการจัดการเจรจาการค้าในเดือนก.ย. และจีนยินดีที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้าอย่างสงบ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 326.15 จุดหรือ 1.25% ปิดที่ 26,362.25 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 เพิ่มขึ้น 36.63 จุดหรือ 1.27% ปิดที่ 2,924.57 จุดและดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 116.51 จุดหรือ 1.48% ปิดที่ 7,973.39 จุด

ทั้งนี้ นายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า จีนและสหรัฐกำลังหารือกันเกี่ยวกับการจัดการเจรจาการค้าในเดือนก.ย. และระบุว่า ทั้งสองฝ่ายควรสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อความคืบหน้าในการเจรจา โดยจีนจะสกัดกั้นไม่ให้สงครามการค้ากับสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น และยินดีที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้าอย่างสงบ

คำกล่าวของนายเกามีขึ้น ขณะที่ใกล้ถึงวันอาทิตย์นี้ (1 ก.ย.) ที่ทั้งสองฝ่ายมีกำหนดขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2562 ที่ระดับ 2.0% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ต่ำกว่าระดับ 2.1% ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 หลังจากที่เศรษฐกิจขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 1/2562 และ 2.6% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 11 แต่การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และการผลิตของภาคธุรกิจ ถึงแม้ว่าการบริโภคทะยานขึ้น

การใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 4.7% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2557 และเพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 4.3% โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง

ส่วนการลงทุนในภาคธุรกิจลดลง 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 และการลงทุนในภาครัฐลดลงเช่นกัน ส่วนการใช้จ่ายในการสร้างบ้านหดตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงขาลงที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

นอกจากนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.825 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 โดยเพิ่มขึ้นจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 9.787 แสนล้านดอลลาร์