สพฐ. ระดมเขตพื้นเร่งช่วยเด็กยากจนพิเศษ 3 หมื่นคน

สพฐ. ระดมเขตพื้นเร่งช่วยเด็กยากจนพิเศษ 3 หมื่นคน

สพฐ. ระดม 225 เขตพื้นที่การศึกษาเร่งติดตาม ช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษที่เหลืออีกกว่า 3 หมื่นคน ไม่ให้เสียโอกาสรับทุนเสมอภาค ด้าน "กสศ." ชื่นชมครูและเขตพื้นที่มากกว่าครึ่ง กรอกข้อมูลช่วยเด็กครบ 100% ทันเวลา

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.62 ที่โรงแรมบียอนด์สวีท ถนนจรัญสนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดเวทีสร้างความเข้าใจหน่วยบริการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาค(นักเรียนยากจนพิเศษ) โดยมีเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และครูแกนนำสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเข้าร่วม

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ผลจากการเยี่ยมบ้านและคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษของคุณครูสังกัดสพฐ. ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 นี้ มีนักเรียนที่ผ่านคัดกรองเพื่อรับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจาก สพฐ. และเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข กสศ. จำนวน 2,628,799 คน โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่คาดว่าจะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุน ภาคเรียนที่ 1/2562 ราว 723,604 คน จากทั่วประเทศ โดยนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มเลื่อนชั้น กสศ.จัดสรรเงินอุดหนุนแล้วกว่า 311,474 คน เหลือจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มใหม่อีก 381,629 คน ภายในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตามยังมีนักเรียนยากจนพิเศษที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดกรอง แต่โรงเรียนยังไม่ได้บันทึกผลการรับรองข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษโดยคณะกรรมการสถานศึกษา (นร.05) เข้ามาในระบบ จำนวน 30,501 คน จาก 1,638 โรงเรียน ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนในรอบนี้

“เด็กยากจนพิเศษของเรากว่า 30,501 คน ถือเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกนอกระบบเพราะความยากจน กำลังเดือดร้อน ไม่ได้รับการช่วยเหลือ สพฐ.จะไม่ทอดทิ้ง เบื้องต้นได้ประสานกับ กสศ.ให้เปิดระบบเพื่อขยายเวลาการบันทึกผลการรับรองข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษโดยคณะกรรมการสถานศึกษา(นร.05) ระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน 2562 และขอให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต ช่วยกันดำเนินการผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ ให้ความสำคัญกับการคัดกรองข้อมูล/บันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนให้ครบถ้วน และทันเวลา ติดตามการใช้จ่ายเงิน การมาเรียนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ เพื่อเราจะไม่ทอดทิ้งเด็กๆ ของเราแม้แต่คนเดียว” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจากตัวเลขนักเรียนออกกลางคันสูงถึง 2 % ของนักเรียนทั้งหมด จากการอพยพ ย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครอง ปัญหาท้องก่อนวัยเรียน ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อ สพฐ. ใช้มาตรการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกกลุ่มตัวเลขนักเรียนออกกลางคันลดเหลือไม่ถึง 1 % ซึ่งมีทั้ง กศน. ​ท้องถิ่น คอยช่วยติดตามนำระบบเลข 13 หลัก มาติดตามว่าเด็กอยู่ตรงไหน รวมถึงความร่วมมือกับกสศ.ในการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข (CCT) นี้ด้วย เนื่องจากระบบที่ สพฐ. และ กสศ. ช่วยกันพัฒนาขึ้นนี้จะมีการติดตามข้อมูลการมาเรียนของนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีการศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันในการป้องกันการหลุดออกจากระบบของนักเรียนยากจนพิเศษด้วย

10481660794483

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 ตัวเลขนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2561 จาก 510,040 คน เป็น 723,604 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เนื่องจากในปีนี้เราได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจาก สพฐ. ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขตทั่วประเทศในการกระตุ้นให้สถานศึกษาต่างๆ ให้ความร่วมมือในการกรอกข้อมูลเข้ามามากขึ้นมาก ทำให้จำนวนโรงเรียนที่ปฏิเสธการรับทุน หรือไม่เข้ามากรอกข้อมูลลดลงอย่างชัดเจนจากปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียสิทธิในภาคเรียนนี้ โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาถึง 122 เขต หรือมากกว่า 54% ที่โรงเรียนในเขตพื้นที่บริการมีการรับรองข้อมูลนักเรียนเข้ามาครบ 100% กสศ.ต้องขอบคุณเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนและคุณครูที่ร่วมป็นพลังสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่นิ่งนอนใจกับความเดือดร้อนของเด็กๆ กลุ่มนี้ ทั้งนี้ยังจัดให้มีทีมวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาเครื่องมือ และติดตามผลลัพธ์เงินอุดหนุนเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความยั่งยืนต่อไป

“สำหรับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของนักเรียนทุนเสมอภาค ภาคเรียนที่ 1/2562 กสศ.จัดสรรให้นักเรียน 1,000 บาทต่อคน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และบรรเทาอุปสรรคการมีเรียน เช่น ค่าอาหาร ค่าครองชีพ ค่าพาหนะในการเดินทาง และ2.สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพนักเรียนทุนเสมอภาคของโรงเรียนซึ่งจะเป็นการขยายผลให้เงินอุดหนุนของ กสศ.เกิดผลลัพธ์ต่อตัวเด็กนักเรียนได้อย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ต้องยอมรับว่า ทุนเสมอภาครายคนเป็นเงินจำนวนน้อยนิดหากเทียบกับขนาดของปัญหา หากภาคธุรกิจหรือประชาชนทั่วไป จะร่วมสมทบทุนบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มที่ยากจนที่สุดของประเทศ สามารถเข้าไปบริจาคและใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้อัตโนมัติที่ https://donate.eef.or.th/main-donate และสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 079-5475” ผจก.กสศ. กล่าว