สงครามการค้าฉุดศก.เอเชียถดถอย

สงครามการค้าฉุดศก.เอเชียถดถอย

การตอบโต้กันด้วยมาตรการภาษีของคู่สงครามการค้าอย่างสหรัฐและจีน กำลังส่งผลกระทบต่อบางประเทศในเอเชีย โดยข้อมูลเศรษฐกิจบางตัว บ่งชี้ว่าประเทศเหล่านี้กำลังเดินเข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่เฉพาะสหรัฐและจีนเท่านั้น ที่เจอผลพวงของสงครามการค้า ติดตามได้จากรายงาน

หลายภูมิภาคของโลกเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เห็นได้จากเวทีประชุมเศรษฐกิจหลายเวทีมักใส่ประเด็นหารือเกี่ยวกับการรับมือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไว้เป็นหนึ่งในวาระการประชุมเสมอ ซึ่งความกังวลในเรื่องนี้ ทำให้เกิดความกลัวต่อไปถึงเรื่องตำแหน่งงานและการเติบโตของธุรกิจหรือเศรษฐกิจประเทศ

แต่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นภัยคุกคามประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียเท่านั้น แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียเริ่มชะลอตัวแล้วก็ตาม แต่ประเทศเล็กๆในภูมิภาคก็มีความเสี่ยงที่จะเจอภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์ และฮ่องกง

หลุยส์ คูอิตส์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ“ผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่”ในการทำศึกการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเล็กๆ มีเศรษฐกิจเปิดและมีการค้าขายกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะค้าขายกับจีน" และต่อไปนี้คือประเทศที่เสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเพราะผลพวงของการทำสงครามการค้า

เริ่มจากจีน ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแรงหลายปีติดต่อกัน ตัวเลขล่าสุด บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของจีนในไตรมาส2ขยายตัว 6.2% ถือว่าขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ90 การทำสงครามการค้าและสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ยิ่งทำให้จีนย่ำแย่หนัก เพราะบริษัทจีนที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐมีประมาณ 20% แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือการที่ไม่มีใครรู้ว่าสงครามการค้านี้จะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน

ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาผลกระทบ รวมถึง ลดภาษีและทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ โดยในปีนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้ากระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ระหว่าง 6% และ 6.5%

อันดับต่อมาคือ ญี่ปุ่น คูอิตส์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนย่อมส่งผลอย่างมีนัยต่อประเทศที่เหลือในเอเชีย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและผลพวงจากการทำสงครามการค้า ทำลายความเชื่อมั่นทางธุรกิจในญี่ปุ่น แถมญี่ปุ่นยังเจอปัญหาส่งออกสินค้าได้น้อยลง โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์

แต่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของญี่ปุ่นถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ โดยจีดีพีไตรมาส2ปรับตัวขึ้น 0.4% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.1% อานิสงส์จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม จีดีพีของญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้ดีเกินคาดไปตลอด โดยเฉพาะเมื่อภาษีการขายเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเดือนต.ค.

ต่อมาคืออินเดีย ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ3 ของเอเชีย กำลังเผชิญหน้ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ความต้องการภายในประเทศหยุดนิ่งอยู่กับที่และการลงทุนจากต่างประเทศอ่อนแอ การเติบโตของจีดีพีไตรมาสล่าสุดของอินเดียปรับตัวลงเหลือ 5.8% ถือว่าขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี

อินเดีย พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจแต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลงมาก ดูได้จากยอดขายรถยนต์ที่ร่วงลงอย่างหนัก ในเดือนก.ค. ยอดขายรถยนต์นั่งโดยสารส่วนบุคคลร่วงลง 31% เป็นการปรับตัวลงต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ และอุตสาหกรรมรถยนต์อินเดียปลดพนักงานและลดกำลังการผลิตรถอย่างมากเพื่อรับมือกับยอดขายลดลง และจนถึงขณะนี้ ธนาคารกลางอินเดีย ลดดอกเบี้ยแล้ว4ครั้งด้วยกัน

ขณะที่ฮ่องกง ซึ่งกำลังมีปัญหาการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ มีความเป็นไปได้มาที่สุดที่ฮ่องกงจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ การเติบโตของจีดีพีฮ่องกงในช่วง3เดือนจนถึงเดือนมิ.ย.หดตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบของการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยว และธุรกิจค้าปลีก

บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากดีบีเอส และแคปิตัล อีโคโนมิคส์ คาดการณ์ว่าตัวเลขจีดีพีของไตรมาส3 ซึ่งจะเผยแพร่ในเดือนพ.ย.จะสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจฮ่องกงปรับตัวลงและเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในทางเทคนิค นั่นคือเติบโตติดลบติดต่อกันสองไตรมาส

ส่วนสิงคโปร์ ประเทศที่พึ่งพาการค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไฮเทค กำลังได้รับผลกระทบจากความต้องการทั่วโลกอ่อนแอลง เพราะผลพวงของการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

เศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัว 3.3% ในไตรมาส2 ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ ตัดสินใจปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2562ลงเหลือระหว่าง 0% และ 1%

อ็อกฟอร์ด อีโคโนมิค คาดการณ์ว่า ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีไตรมาส3 ที่จะเผยแพร่ในเดือนต.ค.ของสิงคโปร์จะหดตัว ซึ่งหมายความว่า สิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

สุดท้ายคือเกาลีใต้ ที่ตอนนี้มีกระแสวิตกกังวลว่า เกาหลีใต้อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจแล้ว แต่รัฐบาลโซลพยายามทุ่มงบประมาณเพื่อใช้จ่ายด้านต่างๆเป็นการใหญ่เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในไตรมาส2

จีดีพีของเกาหลีใต้รายไตรมาสจนถึงเดือนมิ.ย.ขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก และในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ3ปี

ปัญหาของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นปัญหายอดส่งออกสินค้าไฮเทคปรับตัวร่วงลง เนื่องจากตลาดสินค้าไฮเทคทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งการค้าในส่วนนี้มีความสำคัญต่อเกาหลีใต้ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกโดยรวมของเกาหลีใต้ ขณะที่กรณีพิพาททางการค้ากับญี่ปุ่น ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มากยิ่งขึ้น