‘สินค้าจากขยะพลาสติก’ พลิกธุรกิจชุมชนอาเซียน
กลุ่มเซ็นทรัลทำ ได้ลงพื้นที่ชุมนุมช่วยแนะนำวิธีคิดและการออกแบบสินค้าที่มีความทันสมัยภายใต้แนวคิดที่ว่า “ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์โอท็อปในชุมชนให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น
“อาเซียน” กำลังเผชิญปัญหานำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2.26ล้านตัน หรือคิดเป็น 27% จากทั่วโลกถือเป็นวาระเร่งด่วน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมมือกันหยุดการใช้ถุงและภาชนะพลาสติก ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติได้จริงและทำได้ทันที
ขณะนี้ บริษัทเซ็นทรัล กรุ๊ปได้เข้ามาร่วมรณรงค์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าจากขยะพลาสติกนำมาวางแสดงในการประชุมอาเซียนปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อจุดประกายให้ทุก ๆ ประเทศได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง
ภัทรสิริ แต่รุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายประสานงานต่างประเทศโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) ของบริษัทเซ็นทรัลกรุ๊ปให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานนี้ถึงการทำงานร่วมกับชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากการรีไซเคิลขยะพลาสติกว่าสินค้าเหล่านี้ได้ผลิตขึ้นมาภายใต้โครงการ“เซ็นทรัลทำ” (CentralTham) เป็นหนึ่งในโครงการซีเอสอาร์ และพันธกิจเพื่อสังคม ในการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนไทย
กลุ่มเซ็นทรัลทำ ได้ลงพื้นที่ชุมนุมช่วยแนะนำวิธีคิดและการออกแบบสินค้าที่มีความทันสมัยภายใต้แนวคิดที่ว่า “ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์โอท็อปในชุมชนให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น
ขณะนี้ มีชุมชนจำนวนมากในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้เข้ามาร่วมโครงการของเซ็นทรัล อาทิ ชุมชนในจ.น่าน เชียงใหม่ เชียงราย ตรัง กาญจนบุรี ราชบุรี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุบลราชธานี
ภัทรสิริ กล่าวอีกว่าสำหรับสินค้ามีทั้งเครื่องจักรสาน เครื่องประดับทองเหลืองเครื่องเงิน ผ้าทอมือ และงานประดิษฐ์ที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งทางกลุ่มเซ็นทรัลได้นำสินค้าเหล่านี้มาดีไซน์เพิ่มเติม และสินค้าบางชนิดนำมาประกอบเข้ากับสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลหวังเจาะตลาดลูกค้าที่มีแนวคิดรักษ์โลกโดยจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “กู๊ด กู๊ดส์” (Good Goods) และนำวางขายตามช็อปกู๊ด กู๊ดส์ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลทุกสาขา
“ทางบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ในทุกครั้งที่เซ็นทรัลกรุ๊ปได้ไปออกงานจัดแสดงสินค้าตามงานการประชุมต่าง ๆ ก็สามารถนำผลิตภัณฑ์แบรนด์กู๊ด กู๊ดส์ไปจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าสินค้าชุมชนไทยได้พัฒนายกระดับและมีความทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิมมาก” ภัทรสิริ ระบุ
ภัทรสิริเสริมว่าส่วนสินค้าที่นำมาจัดแสดงในการประชุมอาเซียนได้เน้นผลิตภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงาน โดยเฉพาะกระเป๋าที่ประดิษฐ์จากวัสดุโพลิเอทิลีนที่ได้คิดค้นพัฒนาเส้นใยกระเป๋าที่ได้แปรรูปมาจากเมล็ดพลาสติกในวงจรรีไซเคิลขวดน้ำพาสติกที่ใช้แล้ว
ทั้งนี้ ทีมออกแบบผลิตภัณฑ์ของเซ็นทรัลได้ทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเส้นใยสิ่งทอจากพลาสติกเหลือใช้ เพื่อออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สวยงามและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลุกค้าในปัจจุบัน ให้สามารถนำไปใช้ได้จริง
สินค้าที่ประดิษฐ์จากเส้นใยพลาสติกมีหลากหลายรูปแบบทั้งกระเป๋าถือ กระเป๋าชอปปิง และกระเป๋าล้อลาก ซึ่งตั้งใจออกแบบให้มีลวดลายกระเป๋าที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในหมู่แฟชั่นนิสต้าต่างชาติ นั่นคือ ลายกระเป๋าที่คล้ายคลึงกับถุงกระสอบ-ถุงสายรุ้งชูเอกลักษณ์สินค้าของไทยออกไปโชว์ภายใต้แบรนด์กู๊ด กู๊ดส์
นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมถุงผ้าทำมาจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลที่มีลักษณะคล้ายกับเนื้อผ้าจริง ๆ มาแจกให้ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมประชุมอาเซียนได้ใช้กันภายในงาน และนำกลับไปเป็นของที่ระลึก อีกทั้งถือเป็นการรณรงค์ให้แขกผู้มาร่วมงานได้ร่วมกัน “ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก” (Say No to Plastic Bags)เหมือนกับคอนเซ็ปต์ของเซ็นทรัลในตอนนี้
“เซ็นทรัลอยากให้ประชาชนอาเซียนได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งหยุดใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าและกระเป๋าที่ผลิตจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล เพื่อร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมอาเซียนและโลกให้ยั่งยืน” ภัทรสิริ ย้ำ
ทั้งนี้ บริษัทมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และร่วมมือกันพัฒนาให้ก้าวสู่เอสเอ็มอีสากล ซึ่งชาวบ้านจะได้รายได้จากการขายสินค้าให้กับบริษัทเต็ม 100% หลังจากนั้นทางทีมงานได้นำสินค้าของชุมชนไปดีไซน์เพิ่มเติม และวางจำหน่ายในทุกช่องทางของห้างโดยมีความตั้งใจที่จะทำการตลาดในประเทศไทยให้เต็มก่อน และในอนาคตเร็ว ๆ นี้ แล้วจะมีแผนขยายไปยังตลาดต่างประเทศ
ส่วนแผนการตลาดในตางประเทศ ภัทรสิริชี้ว่า ขณะนี้กลุ่มเซ็นทรัลได้เปิดเว็บไซต์ในชื่อ กู๊ด กู๊ดส์เป็นช่องทางติดต่อการค้าจากต่างชาติ ซึ่งมีลูกค้าชาติต่างชาติได้ติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวญี่ปุ่นและไต้หวันเพราะลักษณะการดีไซน์ตรงกับไลฟ์สไตล์ที่ใช้กันอยู่ ประกอบกับกลุ่มลูกค้าต่างชาติเหล่านี้ได้เคยเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย มีความชื่นชอบและนิยมสินค้าจากชุมชนในไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้มีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง