'สนธิรัตน์' หนุน ปตท.ลุยลงทุนปิโตรเคมีต้นน้ำ-ปลายน้ำ ในเมียนมา
"สนธิรัตน์" หนุน ปตท. ลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีและแอลเอ็นจี ในเมียนมา พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา ดันขายไฟฟ้าผ่านแม่สอดสู่เมียวดี ป้อนดีมานด์ในเมียนมาขยายตัวรับการเติบโตของเศรษฐกิจ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุม “รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (AMEM) ครั้งที่ 37 วานนี้ (5ก.ย.) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ โรงแรม ดิแอทธินี โฮเทล กรุงเทพฯนั้น ได้มีการหารือแบบทวิภาคีระหว่างไทยและเมียนมา โดยประเด็นหารือหลักคือทั้ง 2 ประเทศ ต้องการสนองนโยบายของอาเซียนกริด ซึ่งทางเมียนมาเสนอให้มีการขายไฟฟ้าเข้าสู่เมียนมา เพื่อป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเติบโตขึ้น หลังจากที่ทางเมียนมา มีแผนจะขยายพื้นที่การใช้ไฟฟ้าให้ครอบคลุมการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น จากปัจจุบันดำเนินการได้เพียง 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้า
ดังนั้น ทั้ง 2 ประเทศจึงเห็นพ้องที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในด้านทางเทคนิค ปริมาณ และราคาในการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้น ไฟฟ้าที่จะส่งเข้าสู่เมียนมาจะผ่านทางแม่สอด จ.ตาก เข้าสู่เมืองเมียวดี ของเมียนมา ผ่านสายส่งไฟฟ้าขนาด 250 เควี โดยความร่วมมือด้านไฟฟ้านั้น ทางประเทศไทย จะมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการหลัก
ส่วนด้านการลงทุนนั้น ประเทศไทยสนใจเรื่องการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเมียนมาต้องการให้เกิดการเข้าไปลงทุนด้านก๊าซ และปิโตรเคมี ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางด้านบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนปิโตรเคมีทั้งต้นน้ำและปลายน้ำอยู่แล้ว และทางรัฐบาลไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือต่างๆ
นอกจากนี้ ยังหารือเรื่องของการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่เป็นการขนส่งในลักษณะเรือขนาดเล็ก แปรสภาพก๊าซผ่านรถขนส่ง (small scale) ในเมียนมา ซึ่งจะเป็นทิศทางของเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตที่จะมีความสำคัญมากขึ้น และไทยก็มีความพร้อมเรื่องของสถานีรับ-จ่าย LNG ที่รองรับได้ถึง 30 ล้านตันต่อปี รวมถึงทางเมียนมา ยังต้องการให้เกิดการลงทุนและจัดตั้งสถานีจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) อีกทั้ง เมียนมาอยากให้ประเทศไทยช่วยยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งจะหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป