เอเชียแข่งดุดึงทุนต่างชาติที่หนีภัยสงครามการค้า
หวังเป็นแหล่งลงทุนใหม่ให้กับบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตหนีภัยสงครามการค้าจากจีนและสหรัฐ
ขณะนี้หลายชาติในเอเชีย แข่งขันกันอย่างคึกคักเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ มีทั้งผ่อนคลายกฏลงทุน เอื้อประโยชน์ด้านภาษี ขยายเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีและเพิ่มประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษี หวังเป็นแหล่งลงทุนใหม่ให้กับบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตหนีภัยสงครามการค้าจากจีนและสหรัฐ ติดตามรายละเอียดได้จากรายงาน
สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยืดเยื้อมานานกว่า1ปี และเข้มข้นขึ้นทั้งในแง่ของมูลค่าสินค้าที่เรียกจัดเก็บและระดับความรุนแรงของอัตราภาษีนำเข้าที่แต่ละฝ่ายกำหนดทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เร่งออกมาตรการรับมือผลกระทบจากการทำสงครามการค้าและหนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือการเร่งดึงดูดการลงทุนของบรรดาบริษัทข้ามชาติที่หนีภัยจากสงครามการค้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ
เริ่มจากเวียดนาม ที่ล่าสุด บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากกำลังย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยบริษัทหลายแห่งเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิตใหม่ เช่น ริโก้ นินเทนโด ชาร์ป มิตซูบิชิ เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบคือมีค่าแรงงานถูก แรงงานเวียดนามได้รับค่าจ้างเดือนละ 216 ดอลลาร์ต่ำกว่าที่แรงงานในจีนได้รับประมาณครึ่งหนึ่ง
ในเวียดนามมีค่าไฟฟ้าถูก โดยค่าไฟฟ้าในเวียดนามราคา 7 เซนต์/กิโลวัตต์ ในอินโดนีเซีย 10 เซนต์/กิโลวัตต์ และในฟิลิปปินส์ 19 เซนต์/กิโลวัตต์ ที่สำคัญ เวียดนามมีแรงงานมากที่สุด 57.5 ล้านคน เทียบกับในมาเลเซีย ที่มีแรงงาน 15.4 ล้านคนและในฟิลิปินส์ มีแรงงาน 44.6 ล้านคน
นอกจากนี้ เวียดนามยังทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)มากที่สุด และมีส่วนร่วมทางการค้ากับทุกกลุ่มทั้งในเอเชียและยุโรป อีกทั้งเวียดนามยังมีข้อได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ คือมีชายแดนติดจีน ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียอยู่ไกลกว่า ปิดท้ายคือเวียดนามมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
ต่อมาคืออินโดนีเซีย ผ่อนคลายกฏระเบียบด้านการลงทุนให้ต่างชาติด้วยการให้ต่างชาติดำเนินกิจการได้เพิ่มอีก 49 ประเภทกิจการ และให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้น 100% ได้ใน 25 ประเภทกิจการ ขยายเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษี ลดเงินลงทุนขั้นต่ำให้ครอบคลุมผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
มาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบนี้ ทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดมี 5 อุตสาหกรรมคือ 1 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 2 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า 3 อุตสาหกรรมยานยนต์ 4 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และ5 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
นโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างชาติดั้งเดิมของอินโดนีเซีย กำหนดให้นักลงทุนใหม่ต้องลงทุนขั้นต่ำ 1ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ และจะได้ส่วนลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-100% มีระยะเวลายกเว้นภาษี 5,10 หรือ 15ปี และใช้ระยะเวลาอนุมัติให้ผู้ประกอบการ 45 วันทำการ ส่วนนโยบายใหม่ กำหนดให้นักลงทุนทั้งเก่าและใหม่ ต้องลงทุนขั้นต่ำ 2 หมื่นล้านรูเปี๊ะยห์-1แสนล้านรูเปี๊ะยห์ ได้ส่วนลดภาษีนิติบุคคล 50-100% มีระยะเวลายกเว้นภาษี 5-20 ปี และทางการใช้ระยะเวลาอนุมัติให้ผู้ประกอบการ 5 วันทำการ
ขณะที่สิงคโปร์ ตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นฮับการเงินแห่งเอเชียแทนที่ฮ่องกง ที่ขณะนี้กำลังสูญเสียรายได้ทั้งจากการท่องเที่ยวและค้าปลีกจากปัญหาการชุมนุมประท้วงที่ลากยาวมานานกว่าสองเดือน และสิงคโปร์ยังอาศัยข้อได้เปรียบจากการดำเนินนโยบายตลาดเสรีเป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุน นอกเหนือจากการเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลในอัตราต่ำและลดกฏระเบียบต่างๆ รวมทั้งออกมาตรการที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน
สิงคโปร์ มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคสูง ถือเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงสุดประเทศหนึ่งในโลก ทั้งยังเป็นประเทศที่มีความง่ายในการทำธุรกิจมากที่สุดเป็น อันดับ 1 ของโลก4 จาก 185 ประเทศ ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก ด้วยดัชนีความง่ายในการท้าธุรกิจ ในปี 2558 ซึ่งเป็นอันดับที่ได้รับ 9 ปีติดต่อกัน
มีจุดเด่นในเรื่องความโปร่งใสของกฎระเบียบ การปลอดจากการ ทุจริตคอรัปชั่น และการลดขั้นตอนการท้าธุรกิจเพื่ออ้านวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายในทรัพย์สินให้กับนักลงทุน ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนที่ส้าคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ส่วนประเทศติดกันกับสิงคโปร์ อย่างมาเลเซีย ก็ใช้ข้อได้เปรียบต่างๆที่มีอยู่แล้วมาช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เช่น การเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป ใช้กฎระเบียบการลงทุนที่ผ่อนคลาย เช่น การยกเว้นภาษี มีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอยู่ในระดับที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยและคุณภาพสูงมาแปรรูปและขับเคลื่อนสินค้าการเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่อินเดีย ให้แรงจูงใจทางการเงิน เช่น ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล และแท็กซ์ฮอลิเดย์ หรือลดภาษีด้านต่างๆ ตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแนวชายฝั่งทะเลทั่วประเทศและให้สิทธิพิเศษด้านต่างๆแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นและต่างชาติทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เวชภัณฑ์และโทรคมนาคม
ปิดท้ายที่กระทรวงอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ ประกาศแผนเพิ่มแรงจูงใจด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่กำลังรุนแรงขึ้นในขณะนี้
กระทรวงอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ ระบุว่า เกาหลีใต้ได้รับเม็ดเงินเอฟดีไอมูลค่า 2.69 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่เกาหลีใต้กวาดเม็ดเงินเอฟดีไอได้มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์แต่เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินเอฟดีไอให้ไหลเข้าสู่ประเทศในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทการค้า กระทรวงฯจะเพิ่มแรงจูงใจเป็นเงินสดสำหรับบริษัทต่างๆที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วน วัสดุ และอุปกรณ์ นอกจากนี้ เกาหลีใต้จะลดความยุ่งยากของขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างโรงงานให้กับบริษัทต่างชาติด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'จีน-สหรัฐ' ตกลงเจรจาการค้าที่วอชิงตัน เดือน ต.ค.
-จีนพูดชัดอยากเจรจาการค้ากับสหรัฐ
-แหล่งข่าวเผยสหรัฐเจรจาการค้าจีนรอบนี้มีเซอร์ไพรซ์
-หวังสหรัฐเจรจาการค้าจีนหนุนดาวโจนส์พุ่งกว่า 300 จุด