ปริมาณฝนกตกห้วงเวลาฝนสั้นแต่กระจุกกันแค่สัปดาห์เดียว ในปริมาณที่มาก และตกหนักในพื้นที่ลุ่มต่ำ การระบายที่ธรรมชาติมีอยู่จึงไม่เพียงพอ ปริมาณแค่สัปดาห์เดียวเทียบเท่ากับปริมาณฝนกว่าครึ่งหนึ่งของฝนทั้งปี
ทำไม? ปีนี้น้ำท่วมเมืองอุบลราชธานีหนักหนาสาหัสกว่าทุกปี เพราะจะว่าไปแล้ว จังหวัดอุบลราชธานีถือเป็นจังหวัดที่อยู่ล่างสุดตามทางน้ำไหล โดยน้ำจากภาคอีสานทั้งหมดจะไหลไปรวมอยู่จังหวัดแห่งนี้ หากปีไหนจังหวัดอีสานตอนบนมีน้ำท่วมก็คาดเดาได้เลยว่า จังหวัดอุบลราชธานีไม่สามารถรอดพ้นได้แน่ แต่ทำมาปีนี้หนักกว่าปีก่อน ๆ
ปีนี้สถานการณ์น้ำท่าในภาคอีสาน หลังจากเข้าสู่ฤดูฝน ฝนตกน้อยมากจนเกิดภาวะความแห้งแล้งกระจายทั่วภูมิภาค จังหวัดตอนบนอย่าง นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภูฝนไม่ตก แม้ผ่านฤดูฝนไปแล้วฝนก็ตกน้อยจนไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน
ปริมาณน้ำในเขื่อนล่าสุดของภาคอีสาน ตามข้อมูลของสำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ วันที่ 16 กันยายน 2562 พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่อย่าง เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นพบว่ามีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 26.45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เขื่อนจุฬาภรณ์จังหวัดชัยภูมิมี 30.67 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร มี 53 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมามีน้ำ 51 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเขื่อนใหญ่ที่อยู่ตอนบน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีฝนตกและไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน คาดว่าฤดูแล้งปีนี้อาจจะเผชิญปัญหาภัยแล้งถาโถมต้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้อีก
ส่วนเขื่อนที่อยู่ตอนกลางของภาคอย่างเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์พบว่ามีปริมาณน้ำเก็บกักสูงมากคือ 86 เปอร์เซ็นต์เพราะในช่วงที่ผ่านมาฝนตกอย่างหนักและเกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ แต่พอฝนหยุดน้ำไหลลงไปตามลำน้ำปาว ไปลงลำน้ำชีที่จังหวัดร้อยเอ็ด ลำน้ำยังจังหวัดยโสธร ไปต่อยังลำน้ำชี แม่น้ำชีไปรวมแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และทั้งหมดนี้ไหลไปรวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปลงลงลำน้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีทำให้เมืองอุบลราชธานีนอกจากจะต้องเผชิญปัญหาน้ำไหลรวมแล้ว ยังต้องเผชิญปัญหาฝนตกหนักและมีปริมาณน้ำในพื้นที่เอ่อนองไม่สามารถระบายออกได้อีก
โดยจากข้อมูลสถานการณ์แม่น้ำมูลเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมาพบว่าระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำมูล M7 เวลา 07.00 น. อยู่ที่ 115.88 ม.รทก. สูงกว่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2545 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน (115.77 ม.รทก.) ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากวันที่ 11 กันยายน อีก 15 เซ็นติเมตร ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ชั้นล่างซึ่งเป็นชั้นจอดรถตลาดใหญ่เทศบาลนครอุบลราชธานี ส่วนพื้นที่ชั้นในของเขตเทศบาลมีน้ำทะลักเข้าท่วมหลายสาย เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรหลายจุดและมีบ้านเรือนประชาชนอีกหลายหมื่นครอบครัวที่จมน้ำออกมาอยู่ยังศูนย์พักพิงและรอการช่วยเหลือ ทั้งน้ำ อาหาร เครื่องยังชีพ ต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับหลายจังหวัดอีสานกลางที่มวลน้ำเพิ่งไหลลงมาทั้ง ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์และยโสธร
นอกจากนั้นจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ อย่างอาจารย์สหราช ทวีพงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำภาคอีสาน ระบุว่า สาเหตุของน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี หนักที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พายุกระจุกตัวและมีเส้นทางพายุหรือแนวฝนเฉพาะเขตอีสานตอนบน แม่น้ำโขงและลาว ทำให้ปริมาณฝนตกหนักติดต่อกันจนทำให้การระบายน้ำตามธรรมชาติ ไม่สามารถรับได้ สภาพภูมิประเทศที่มีข้อจำกัด ระบบระบายน้ำทั้งธรรมชาติและที่สร้างขึ้นไม่เพียงพอ การพัฒนาผังเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมือง การบริหารจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพ ทั้งระบบเตือนภัย การเตรียมการ สั่งการและการบูรณาการหน่วยงานในภาวะวิกฤติ
“ฝนที่ตกหนักพอ ๆ กัน แต่ผลลัพท์ของการท่วมและห้วงเวลาต่างกัน เปรียบเทียบระหว่างจังหวัดอุดรธานีกับจังหวัดอุบลราชธานี เพราะจังหวัดอุดรธานีสภาพลำน้ำและภูมิประเทศอยู่ตอนบนเอื้อต่อการระบายน้ำมากกว่า ส่วน จังหวัดอุบลธานีเป็นแอ่งกะทะ เป็นที่น้ำไหลมาบรรจบและยังมีทางออกที่เดียวคือโขงเจียมปากแม่น้ำโขงซึ่งถูกบีบบังคับเป็นช่องออกแคบ ๆ ด้วยภูเขา”นายสหราช กล่าว
และยังบอกว่า นอกจากนั้นยังพบว่ามีปริมาณฝนกตกห้วงเวลาฝนสั้นแต่กระจุกกันแค่สัปดาห์เดียว ในปริมาณที่มาก และตกหนักในพื้นที่ลุ่มต่ำ การระบายที่ธรรมชาติมีอยู่จึงไม่เพียงพอ ปริมาณแค่สัปดาห์เดียวเทียบเท่ากับปริมาณฝนกว่าครึ่งหนึ่งของฝนทั้งปี ถ้ามาแบบเดิม ๆ ที่เคยทยอยตกกระจายประมาณ 4 เดือน พอจัดการได้ด้วยระบบโครงสร้างที่มี เขื่อนเราส่วนใหญ่อยู่ที่สูง ฝนครั้งนี้เขื่อนใหญ่ เช่น ลำปาว อาจจะรวมเขื่อนน้ำอูนด้วยที่ได้น้ำแต่เขื่อนที่อยู่ตอนบนทั้งหมดทั้งจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิยังขาดแคลนน้ำอย่างหนักเหมือนเดิม
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือระยะเวลาที่เหลื่อมกันระหว่างระดับน้ำโขงกับน้ำมูล ที่เคยเว้นช่วงประมาณ 15 วัน (คือน้ำโขงลดลงแล้วน้ำมูลค่อยไหลตามไป) ทำให้ที่ผ่านมาน้ำไม่ท่วมเพราะสามารถระบายได้ แต่ปัจจุบันน้ำโขงขึ้นหนุนแล้วน้ำมูลยังลงไปบรรจบในระดับที่ไม่แตกต่างกัน (ตรงอำเภอโขงเจียม) สุดท้ายทำให้น้ำไม่ได้ เพราะตรงนี้เป็นทางออกที่เดียวของลำน้ำมูล-ชี น้ำจึงท่วมเพราะน้ำโขงหนุนด้วย
สรุปคือห้วงเวลาที่น้ำจะไหลไปปะทะกันในระดับเดียวกันเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ช่วงเวลาที่เหลื่อมกันไม่มีแล้วในปีนี้ พายุที่เข้าแม่น้ำโขงกับเข้าแม่น้ำมูล-ชี เป็นเวลาเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้จัดการน้ำไม่ได้ ต้องรอจนกว่าน้ำโขงลดลง น้ำมูลจึงจะมีทางระบายออก เขื่อนปากมูลที่ผ่านมาเคยมีบทบาทเหมือนแยกไฟแดงแต่วันนี้กลับไม่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ ต้องแขวนบานประตูทั้งหมด ปล่อยน้ำให้ไหลไป เพราะหากปิดบานประตูเอาไว้ น้ำคงท่วมหนักกว่านี้และจะถูกมองเป็นจำเลยของสาเหตุน้ำท่วมอีกครั้ง