“แรงงานทักษะสูง”พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมเอเชีย
การหลั่งไหลของแรงงานและทรัพย์สินทางปัญญาจะช่วยลดช่องว่างระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียได้
แม้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากในด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติและศาสนาแต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียก็หาจุดร่วมกันได้ในเรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการแบ่งปันทุนด้านองค์ความรู้ ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและแนวคิดยภายในกลุ่มประเทศต่างๆอย่างเสรี โฉมหน้าของอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป
“พัลลาวิ” วิศวกรหญิงชาวอินเดีย ทำงานให้กับไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คัมพานี (ทีเอสเอ็มซี)ผู้ผลิตชิปตามสัญญาว่าจ้างรายใหญ่สุดของโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซินจู๋ ศูนย์กลางด้านไฮ-เทคของไต้หวัน โดยเธอเป็นเหมือนผู้ประสานงานระหว่างบริษัทและลูกค้า
เธอได้รับการโปรโมตให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญหลังจากทำงานที่บริษัทได้แค่3เดือนจนกลายเป็นที่กล่าวขานถึงในหมู่พนักงาน แต่เธอเป็นคนไม่เกี่ยงเรื่องงานหนักและมั่นใจว่าเธอสามารถเรียนรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็วและช่วยหาทางออกในปัญหาต่างๆให้แก่บริษัทได้
คอนนี หม่า รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า ทีเอสเอ็มซี ครองส่วนแบ่งในตลาดชิปประมาณ50% และทุกวันนี้บริษัทได้รับการร้องขอจากบรรดาลูกค้าให้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของพวกเขา โดยเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ ด้วยเหตุนี้ทีเอสเอ็มซีจึงมองหาลูกค้าในต่างแดนที่มีศักยภาพมาร่วมทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา และอินเดีย เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ทีเอสเอ็มซีเล็งเป้า
อินเดีย มีแรงงานที่มีการศึกษาดี มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับสูงและมีความเชี่ยวชาญด้านการคำนวณ ทำให้อินเดียเป็นแหล่งรวมวิศวกรด้านไอทีที่ช่วยให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด
พัลลาวิ บอกว่า ทุกวันนี้ ชาวอินเดียจำนวนมากที่มีทักษะความชำนาญด้านเทคโนโลยีเลือกที่จะทำงานกับบริษัทในเอเชียมากกว่าบริษัทตะวันตก
เอเชีย เป็นตลาดที่มีโอกาสมากมายมหาศาล ไต้หวันก็เหมือนประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอื่นๆ ที่เป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่อินเดียมีความโดดเด่นด้านการผลิตซอฟต์แวร์ ส่วนสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆที่มีประชากรแค่ 5.6 ล้านคน พยายามก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่แหล่งของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่มีความสลับซับซ้อนและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งเศรษฐกิจในรูปแบบนี้และความหลากหลายทางด้านอุตสาหกรรมเป็นตัวผลักดันให้เกิดคลื่นแรงงานอพยพและทรัพยากรด้านเทคโนโลยีหลั่งไหลเข้ามายังภูมิภาค
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้คือความร่วมมือระหว่างวีแบงก์ เครือข่ายให้บริการทางการเงินออนไลน์ของเทนเซนต์ โฮลดิงส์ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีนและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ ที่ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชันเอไอรูปแบบใหม่ ซึ่งความร่วมมือนี้เกี่ยวข้องกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองฝั่งจำนวน 35 คน ที่จะพัฒนาการบริการในรูปแบบของการให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการสินทรัพย์บนพื้นฐานของเอไอรูปแบบใหม่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ ติดอันดับ2ของโลกในแง่ของจำนวนการอ้างอิงงานวิจัยที่ได้รับระหว่างปี 2555 และ2559 ถือว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักวิชาการและมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ขณะที่วีแบงก์ มีความสามารถในการบริหารจัดการกับข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลปริมาณมากของผู้บริโภคชาวจีนในแต่ละวันเพื่อพัฒนาและปรับแต่งเทคโนโลยีของตัวเองให้สามารถตัดสินใจด้านการปล่อยสินเชื่อได้ในเวลาอันรวดเร็วภายใน5วินาที
การหลั่งไหลของแรงงานดังกล่าวและทรัพย์สินทางปัญญาจะช่วยลดช่องว่างระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ ตั้งแต่ช่วงปี2503จนถึงปี 2533 หลายประเทศในเอเชียพัฒนาไปมากในจำนวนนี้มีหลายประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน
แต่คลื่นนวัตกรรมดิจิทัลในช่วง2-3ปีมานี้ก็จุดชนวนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนทัศน์ การก่อเกิดของอินเทอร์เน็ต ประกอบกับการเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีได้อย่างง่ายดายและในราคาที่ถูก อาทิ สมาร์ทโฟนช่วยยกระดับการแข่งขันในตลาดสำหรับเหล่าผู้ประกอบการในเอเชียที่สามารถหาจุดต่างเพื่อตั้งธุรกิจออนไลน์ได้ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในฟิลิปปินส์ หรือ ในสิงคโปร์
อิชิโร ซากาตะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาครูปแบบใหม่ว่าเป็นเหมือนการวิ่งคู่ขนานที่เศรษฐกิจใหม่จะค่อยๆเข้าครอบงำบทบาทของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เศรษฐกิจทั้งสองแบบจะเติบโตไปพร้อมๆกัน
นอกจากนี้ หลายประเทศในเอเชียยังสามารถนำโซลูชันด้านเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ซึ่งครอบคลุมถึงเครือข่ายเอทีเอ็มที่อยู่ในสภาพแย่ และการจราจรที่ติดหนักและเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เปิดโอกาสให้แก่บรรดาผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'รองปลัดแรงงาน' เผย ไทยมุ่งส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานภายใต้ฉันทามติอาเซียน
-แรงงานฯประสานคลัง ช่วยพนักงานตกงานหลังควบ 2 แบงก์
-การขับเคลื่อนนโยบายแรงงาน
-แรงงานยุคใหม่ ฮิตหางานผ่านไลน์