'เทรดวอร์' ลามยุโรป เสี่ยงซ้ำเติม ตลาดหุ้นไทย

'เทรดวอร์' ลามยุโรป เสี่ยงซ้ำเติม ตลาดหุ้นไทย

ความกังวลต่อกรณีสหรัฐอาจจะเรียก "เก็บภาษี" นำเข้าสินค้าจาก "สหภาพยุโรป" หลังจากที่องค์การการค้าโลก (WTO) มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลสหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป

โดยสหรัฐมีแผนจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป มูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากความขัดแย้งเกี่ยวกับการที่สหภาพยุโรปทำผิดในการออกมาตรการอุดหนุนทางการค้าต่อบริษัท Airbus (ผู้ผลิตอากาศยานสัญชาตฝรั่งเศส) ซึ่งขัดกับข้อตกลงทางการค้าของ WTO

โดยสหรัฐวางแผนจะขึ้นภาษี 10% บนสินค้าประเภทเครื่องบิน และอีก 25% บนสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งมีกำหนดการเริ่มต้น 18 ต.ค. นี้

ขณะเดียวกัน นางเซซิเลีย มัลสตรอม ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปพร้อมที่จะตอบโต้สหรัฐกลับไปด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเช่นเดียวกัน

ความกังวลต่อโอกาสในการเกิดสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐกับยุโรปนี้ กดดันให้ดัชนีดาวน์โจนส์ (2 ต.ค.) ปรับตัวลดลงถึง 494.42 จุด หรือลดลง 1.86% จากวันก่อนหน้า และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเกือบทั้งหมดให้ปรับตัวลง รวมทั้งตลาดหุ้นไทยซึ่งปรับตัวลดลง 2.95 หรือ 0.18% ปิดตลาดที่ 1,610.69 ด้วยปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น 37,833 ล้านบาท

บล.เอเชียพลัส มองว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและยุโรปค่อนข้าง "จำกัด" แม้ไทยจะมีสัดส่วนการค้าขายกับยุโรปถึง 9.5% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมดทั่วโลก แต่สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยุโรป คือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ราว 12.6% รองลงมาคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ 7.2% ซึ่งไม่ใช่สินค้าเป้าหมายที่สหรัฐจะจัดเก็บภาษีจากสินค้ายุโรป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่เกิดขึ้นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อหุ้นไทยในบางกลุ่มอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีฐานรายได้อยู่ในยุโรปและสหรัฐ

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า อาจจะมีบางบริษัทในตลาดหุ้นไทยซึ่งมีฐานธุรกิจอยู่ในยุโรป อย่าง ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) หรือ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) แต่ผลกระทบไม่น่าจะมากนัก เพราะธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของแผนการขึ้นภาษี

ขณะเดียวกันหากมองในภาพรวม บริษัทที่น่าจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง น่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเช่น ปิโตรเคมี ซึ่งมีแนวโน้มที่ราคาสินค้าจะลดลง รวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่มีรายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก หากมีการเก็บภาษีจริง เพราะเศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มจะอ่อนแอลง

ซึ่งประเด็นนี้จะสอดรับกับมุมมองของ WTO ซึ่งปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้ จาก 2.6% เหลือเพียง 1.2% และยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปีหน้าจาก 3% เหลือ 2.7%

สำหรับภาพรวมของปี 2563 เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ที่อาจจะยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอยู่เช่นเดิม เพราะต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้กดดันตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ผลกระทบหลังจากนี้อาจจะไม่รุนแรงมากนัก

“แม้ผลกระทบจากเทรดวอร์รอบใหม่อาจจะไม่ได้รุนแรงมากไปกว่าปัจจุบัน แต่ในแง่ของการประเมินความเสี่ยงแล้ว ไม่ควรจะเสี่ยงไปกับผลของการเจรจาการค้า ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น กลยุทธ์ในช่วงนี้ควรปรับมาถือเงินสดมากขึ้น จากเดิมที่แนะนำสัดส่วนเงินสด 30% อาจจะปรับมาเป็น 50% ส่วนอีก 50% ควรเลือกหุ้นที่มีปันผลดี หรือมีความต้านทานต่อเศรษฐกิจสูง เช่น ธุรกิจสนามบิน โรงไฟฟ้า และสำหรับผู้ที่ติดหุ้นอยู่ก่อนหน้านี้ อาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการปรับพอร์ต เพราะหุ้นที่ดีและหุ้นที่ไม่ดีในช่วงก่อนหน้า ปัจจุบันมีราคาที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันแล้ว” นายมงคล กล่าว

ด้าน นายไพบูลย์ นรินทรางกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่า ผลกระทบดังกล่าวน่าจะไม่มากนัก เนื่องจากมูลค่าในการจัดเก็บภาษีรอบนี้แค่เพียง 7.5 พันล้านดอลลาร์ หรือเพียงแค่ 2% จากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ และการจัดเก็บภาษีครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากสหรัฐโดยตรง แต่เป็นประเด็นที่สหรัฐยื่นให้ WTO พิจารณามาแล้วถึง 10 ปี กว่าจะสามารถปรับขึ้นภาษีได้ในครั้งนี้