'กต.' นัดถกด่วนจันทร์นี้ ปมผู้พิพากษายะลายิงตัว

'กต.' นัดถกด่วนจันทร์นี้ ปมผู้พิพากษายะลายิงตัว

เลขาฯศาล เตรียมนำรายงาน คำอธิบาย กรณีผู้พิพากษายะลา ยิงตัวเองกลางห้องพิจารณาคดี เสนอที่ประชุม ก.ต. จันทร์นี้ ปธ.กมธ.กฎมาย เตรียมดันกม.พระธรรมนูญ ห้ามแทรกแซงคำตัดสิน “โฆษก กอ.รมน.” ปฏิเสธไม่เคยก้าวก่าย ฝ่ายการเมืองขานรับ จ่อทบทวน จัดเสวนาหาทางออก

จากกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา พยายามก่อเหตุฆ่าตัวตาย โดยใช้อาวุธปืนยิงเข้าที่บริเวณราวนม ได้รับบาดเจ็บสาหัส จนต้องเร่งนำส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา หลังพิจารณาคดีความมั่นคง 

ล่าสุดวานนี้(5 ต.ค.) ในช่วงบ่าย แพทย์ได้ย้ายนายคณากร จากห้อง ICU มาพักฟื้นที่ห้องพิเศษชั้น 2 ตึกยี่เกียวอนุสรณ์ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยมีภรรยา ลูกสาว และครอบครัวเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ด้านนอกห้องพักฟื้น เจ้าหน้าที่จากศาลจังหวัดยะลาจัดกำลังมาคอยดูแลความปลอดภัยภายในโรงพยาบาล และไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยม

ทั้งนี้ บรรยากาศด้านนอกโรงพยาบาลในเช้าวันเดียวกันนี้ นายอามีน มะทา ชาวจ.ยะลา นำช่อดอกไม้ พร้อมกระดาษระบุข้อความ “คืนพิพากษาให้กับผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน” ไปวางหน้าป้ายศาลจังหวัดยะลาเพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงความอาลัยและยกย่องนายคณากร ที่แสดงจุดยืนในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เช่นเดียวกับ “สืบ นาคะเสถียร” ผู้สละชีพตัวเองเพื่อปกป้องผืนป่าของประเทศไทย

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในส่วนขององค์กรตุลาการจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวจากสำนักงานอธิบดีศาลภาค 9 และรายงานต่อไปยัง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาตามลำดับแล้ว และตนจะรายงานข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมก.ต.วันที่ 7 ต.ค.ที่ศาลฎีกา เมื่อรายงานที่ประชุมก.ต.ไปแล้ว ก็ดูว่า ก.ต.จะพิจารณาอย่างไร ซึ่งขณะนี้ตนได้เตรียมรายละเอียด เช่น คำแถลงการณ์ต่างๆของผู้พิพากษาคนดังกล่าว เพื่ออธิบายแก่ ก.ต.แล้ว และต้องรับข้อมูลจากอธิบดีผูพิพากษาภาค 9 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องอีกด้วย

ปธ.กมธ.ศาล จ่อชงร่าง กม.ห้ามแทรกแซง

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กร อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากข้อมูลที่ระบุถึงการถูกแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม และยังเคยเสนอต่อนายกฯ คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้เร่งออกกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ห้ามตรวจร่างคำพิพากษาของผู้พิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และอีกหลายข้อ แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ผ่าน สนช. 

ตนจะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาเพื่อเป็นข้อศึกษาในเชิงป้องกันและแก้ไข และจะนำร่าง พ.ร.บ. ที่ท่านผู้พิพากษาได้ร่าง นำเสนอมาพิจารณาศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความทั้งโจทก์และจำเลยอย่างยิ่ง 

ฝ่ายความมั่นคงยันไม่เคยแทรกแซง

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า( กอ.รมน.ภาค4 สน.) กล่าวปฏิเสธการแทรกแซงว่า ฝ่ายทหารไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม การสั่งฟ้องหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของศาล มีการยกฟ้องคดีมากมาย ก็ไม่เคยปรากฏว่าผู้พิพากษาจะถูกย้าย ถูกปลด ไล่ออก และคงไม่มีใครที่จะมีอำนาจทำเช่นนั้นได้ อำนาจฝ่ายทหาร ฝ่ายบริหาร ไม่สามารถเข้าแทรกแซงหรือก้าวก่ายอำนาจฝ่ายตุลาการได้

 

วันนอร์ชี้ความลักลั่นของกม.3 จว.ใต้

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการแสดงความเห็นจากหลายฝ่ายในสังคม อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งได้เข้าเยี่ยมนายคณากร และยังได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คแสดงความคารวะต่อจิตใจของนายคณากร ที่มีความมุ่งมั่น รักษาสิ่งสำคัญที่สุดในการดำรงรักษาสังคมให้เป็นปกติสุข พร้อมระบุตอนหนึ่งว่า ไม่เฉพาะแต่ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มองเห็นว่า “ความยุติธรรม” คือกุญแจ่ในการบำรุงสังคมให้กลับคืนความสงบสุข ผมเชื่อว่าเราพบเห็นความอยุติธรรมไม่น้อยในสังคม แต่จะมีใครบ้างที่ลุกขึ้นต่อสู้ เป็นความบกพร่องที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะการใช้กฏหมายที่ต้องเรียนรู้บริบทพื้นที่แห่งนี้แตกต่างกับพื้นที่อื่นๆ

ปิยบุตรอ้างผู้พิพากษาเคยร้องเรียน  

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.) ได้เปิดเผยว่า ทางพรรคได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายคณากรตั้งแต่ต้นเดือนก.ย. ด้วยข้อความสั้นๆ ถามถึงนโยบายของพรรคเกี่ยวกับหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา จากนั้นมีข้อความระบุต้องการติดต่อเพื่อให้ข้อมูลการแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม จนกระทั่งเกิดเหตุในวันที่ 4 ต.ค.

ทั้งนี้ ไม่อยากให้สังคมพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการเมือง คงไม่มีใครเอาหน้าที่การงานและชีวิตมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเลขาธิการพรรค อนค.กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้จะเตรียมดำเนินการจัดเสวนาศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการถูกแทรกแซงของกระบวนการยุติธรรมเพื่อหาทางออกของปัญหานี้

ส.ส.ยะลาชี้ฝ่ายนิติบัญญัติอาจทบทวน

นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.เขต 1 จ.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ  กล่าวว่าในฐานะที่เคยเป็นทนายความคดีความมั่นคงในพื้นที่ ยอมรับว่า มีข้อห่วงใยในประเด็นที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้การส่งร่างคำพิพากษาให้ตรวจทาน เป็นการตรวจรูปแบบและคำเท่านั้น การพิพากษายังเป็นการวินิจฉัยจากผู้พิพากษา แต่หากพิจารณาจากคำแถลงของนายคณากร เป็นข้อเท็จจริง ก็ถือว่าแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเรื่องนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาทบทวนข้อขัดข้องเหล่านี้ต่อไป

ทั้งนี้ นายสิระ เจนจาคะ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนจะเดินทางเข้าเยี่ยมนายคณากร ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ด้วย

อธิบดีอัยการธนฯวอนระวังการวิจารณ์

ขณะที่นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญาธนบุรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า อย่ารีบวิจารณ์​สิ่งที่เห็น​เ​พราะอาจเป็นภาพลวงตา​  หลายครั้งเป็นเรื่องโอละพ่อ อยากให้นักกฎหมายทั้งหลายอ่านคำพิพากษาทั้งหมด และ“การวิจารณ์หรือการแชร์และให้ความเห็นทั้งหลาย ควรให้ผู้ที่ปรากฎในคำพิพากษาได้มีโอกาสชี้แจงก่อน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อองค์กรตุลาการและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ