ร้องป.ป.ช.เอาผิดขายน้ำมันเน่าให้ กฟผ. เสียหายกว่า 260 ล้าน
เลขาธิการชมรมต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ เข้าร้อง ป.ป.ช. เอาผิดนำน้ำมันปาล์มเน่ามาขายให้ กฟผ. ส่งผลให้รัฐเสียหายมากถึง 265 ล้านบาท
วันนี้ (8 ต.ค.) นายอุทัย ท้าวอินทร์ เลขาธิการชมรมต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนได้ร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
สืบเนื่องมาจาก รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 มีมติเห็นชอบตามกระทรวงพลังงาน โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำหนดมาตรการยกระดับราคาปาล์ม 2 บาทกว่าๆ เป็น 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 1.6 แสนตัน เฉลี่ย 3 หมื่นตันต่อเดือน ส่งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตไฟฟ้าที่โรงผลิตไฟฟ้าบางปะกง ใช้งบประมาณ 2,880 ล้านบาท
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
ข้อกำหนดของ TOR (Term of Reference) มีการล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางกลุ่มอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบไม่น้อยกว่า 50% มีความสามารถในการขนส่ง เก็บรักษา และส่งมอบ ทั้งนี้ให้มีการขนส่งสินค้าทางเรือเท่านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการคลังสินค้า ท่าเรือขน และเรือขนส่ง อย่างชัดเจน
ราคาที่ซื้อขายนั้นได้กำหนดให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มในราคา 18 บาทต่อ ก.ก. ซึ่งราคาดังกล่าวในการซื้อขายน้ำมันปาล์มโดยปกติทั่วไปแล้วจะต้องได้ค่ามาตรฐานสิ่งเจือปน FFA ไม่เกิน 5% หากเกิน 5% ในตลาดซื้อขายน้ำมันปาล์มเรียกน้ำมันที่มีค่ากรดสูงเกิน 5% ว่าน้ำมันเน่า แต่กลับมีการเปิดช่องทางเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชน โดยกำหนดค่ามาตรฐานสิ่งเจือปน FFA อยู่ในระดับ 7-9% การขายน้ำมันเน่าและไม่มีคุณภาพให้กับ กฟผ.ในราคา 18 บาทเป็นราคาที่สูงผิดปกติอย่างมาก เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการคลังน้ำมันรายใหญ่นำน้ำมันเน่าที่ค้างสต็อกไว้นานออกมาขาย การเปิดช่องว่างให้นำน้ำมันปาล์มเน่ามาขายในราคาแพง ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ขนน้ำมันปาล์มเน่าที่ซื้อมาในราคาถูกออกมาขายให้กับรัฐในราคาที่แพงเกินความเป็นจริงซึ่งกลุ่มบุคคลที่จะมีน้ำมันกรดสูงขนาดนี้ที่รอระบายออก ไม่ใช่เกษตรกรอย่างแน่นอนต้องเป็นรายใหญ่ที่มีสต็อกน้ำมันเป็นจำนวนมากและเก็บไว้นานๆมีไม่กี่รายในประเทศไทย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ขนปาล์มเน่ามาขายให้กับรัฐ และรัฐต้องเสียเงินซื้อในราคามากเกินความเป็นจริง 2–4 บาทต่อ ก.ก. จำนวนที่ซื้อประมาณ 66,250 หมื่นตัน เท่ากับรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายมากผิดปกติและเกินกว่าความเป็นจริงเป็นเงินจำนวน 132.5–265 ล้านบาท เงินส่วนต่างเหล่านี้ตกหล่นไปยังกลุ่มบุคคลใด สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายจากหลักฐานการจ่ายเงินทั้งหมดในโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้ ใน TOR ยังมีการล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ให้เครือข่ายเอกชน ที่ประกอบการโรงสกัด คลังน้ำมัน ท่าเรือ และเรือบรรทุกสิ้นค้า โดยกำหนดให้ขนส่งทางเรือเท่านั้นเป็นการปิดโอกาสไม่ให้มีการขนส่งทางอื่น บริษัทที่มีท่าเรือ บริษัทที่ดูแลคลังสินค้า รับเก็บน้ำมันปาล์ม รับขนส่งสินค้า คือ บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด มีนายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล กรรมการผู้จัดการ หรือเป็นที่รู้จักทั่วไปในวงการปาล์มน้ำมันคือ “เฮียหลี” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งทางเรือและท่าเทียบเรือ และเป็น 1 ใน คู่สัญญาจัดส่งน้ำมันปาล์มดิบให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในนามบริษัท กรีน กลอรี่ จำกัด ซึ่งได้รับผลประโยชน์โดยตรงเนื่องจากเป็นผู้ประกอบการคลังเก็บน้ำมัน เป็นผู้ประกอบการขนส่งทางเรือและท่าเทียบเรือ
นายอุทัย กล่าวว่า ได้เฝ้าติดตามข่าวที่เผยแพร่ต่อสาธารณะในเรื่องความไม่ชอบมาพากลของโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการนำเสนอข่าวมากกว่า 10 ครั้ง แต่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองกลับไม่ใส่ใจตรวจสอบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติจึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่ปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้คณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
โครงการนี้ผ่านมาแล้ว 6 เดือน ราคาปาล์มยังไม่ขยับขึ้น แทนที่จะเป็นการยกระดับราคาปาล์มที่ตกต่ำกลับกลายเป็นการยกระดับให้กับกลุ่มเอกชนบางกลุ่มโดยที่เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์ จะมีการเปิดให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาต่อ กฟผ.ล็อตใหม่ (ล็อตที่ 2) ในวันพรุ่งนี้ (9 ต.ค.) ขอให้ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐเฝ้าติดตามและอาจเป็นเอกชนกลุ่มเดิมที่ได้รับผลประโยชน์
นายอุทัย กล่าวทิ้งท้ายว่า แทนที่จะนำเอาเงินภาษีของประชาชนไปพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร กลับนำมาเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนเพียงไม่กี่ราย ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ชมรมเราก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ในฐานะพลเมืองดีทุกคนต้องร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ต้องไม่เอาความเดือดร้อนของเกษตรกรมาบังหน้าเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ฝากไปยังสื่อว่า ใครมีข้อมูลสำคัญสามารถแจ้งข้อมูลเบาะแสให้ตนได้