บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภัยร้ายเด็กเอเชีย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภัยร้ายเด็กเอเชีย โดยค่าเฉลี่ยภาวะทุพโภชนาการเด็กในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย 40% ค่าเฉลี่ยภาวะทุพโภชนาการเด็กทั่วโลก 33%
ต้องยอมรับว่า อาหารเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เด็กเติบโตแข็งแรง การพึ่งพาอาหารสมัยใหม่ราคาถูกจำพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ช่วยให้อิ่มท้องแต่ไม่มีสารอาหารสำคัญ ทำให้เด็กเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายล้านคนต้องผอมแห้งแรงน้อยหรือไม่ก็น้ำหนักเกินไปเลย
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เผยแพร่รายงานล่าสุด วานนี้ (15 ต.ค.) ระบุ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เศรษฐกิจเติบโตเร็ว มาตรฐานการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น แต่พ่อแม่วัยทำงานกลับไม่มีเวลา ไม่มีเงิน หรือขาดความตระหนักรู้เรื่องอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเด็ก
รายงานระบุว่า เด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบในทั้ง 3 ชาติมีภาวะทุพโภชนาการเฉลี่ย 40% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 33%
“ผู้ปกครองเชื่อว่า การทำให้เด็กอิ่มท้องสำคัญที่สุด ไม่ได้คำนึงว่าเด็กได้รับโปรตีน แคลเซียม หรือไฟเบอร์เพียงพอหรือไม่” ฮัซบุลลาห์ ทาบรานี ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในอินโดนีเซียกล่าว
ผลเสียที่เกิดกับเด็กมีทั้งสูญเสียโอกาสในอดีตและอาจยากจนในอนาคต การได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอทำลายความสามารถในการเรียนรู้ และเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตของผู้หญิงขณะคลอดหรือหลังคลอดบุตร
ตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาได้ชัดเจนที่สุดต้องดูกันที่ตัวเลข ปี 2561 อินโดนีเซียมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิต 24.4 ล้านคน ฟิลิปปินส์ตัวเลขอยู่ที่ 11 ล้านคน และมาเลเซีย 2.6 ล้านคน
มูนี มูตุงกา ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ประจำภูมิภาคเอเชียของยูนิเซฟ ติดตามสถานการณ์โดยดูไปถึงครอบครัวที่ทิ้งอาหารดั้งเดิม หันมาหาอาหารสมัยใหม่ที่เตรียมง่ายและราคาถูก พบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสะดวก ถูก เร็ว จึงเข้ามาทดแทนอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนได้ง่าย
มูตุงกากล่าวด้วยว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในกรุงมะนิลาที่ราคาถูกแค่ห่อละ 23 เซ็นต์สหรัฐ มีสารอาหารและแร่ธาตุจำเป็นอย่างธาตุเหล็กต่ำ โปรตีนไม่เพียงพอ แต่ไขมันและเกลือสูง
ส่วนอินโดนีเซียเป็นประเทศบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ปี 2561 บริโภค 1.25 ล้านห่อตามข้อมูลของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก ตัวเลขนี้มากกว่าอินเดียและญี่ปุ่นรวมกัน
รายงานจากยูนิเซฟกล่าวด้วยว่า เมื่อคนชนบทย้ายมาทำงานในเมืองก็ไม่ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างผัก ผลไม้ ไข่ นม ปลา และเนื้อ แม้ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียต่างเป็นประเทศรายได้ปานกลางตามเกณฑ์ของธนาคารโลก แต่ประชาชนหลายสิบล้านคนยังดิ้นรนหาเงินให้เพียงพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
ที จายาบาลัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในมาเลเซีย ชี้ว่า ความยากจนเป็นปัญหาหลัก ครัวเรือนที่พ่อแม่ทำงานด้วยกันทั้งคู่ต้องการอาหารปรุงเร็ว ครัวเรือนรายได้น้อยในมาเลเซียส่วนใหญ่พึี่งพาบะหมี่ปรุงสำเร็จ มันหวาน และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นอาหารหลัก
เหล่าผู้เชี่ยวชาญระบุด้วยว่า บิสกิตหวานจัด เครื่องดื่ม และฟาสต์ฟู้ดก็สร้างปัญหาในสามประเทศนี้เช่นกัน
การจะขจัดอิทธิพลของบะหมี่ซองที่มีต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจำเป็นต้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วย
“การโฆษณาและส่งเสริมการขายทำกันดุเดือดมาก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่ในชนบทห่างไกล” ทาบรานีให้เหตุผล ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาดูแลคงยากที่จะแก้ไขปัญหาได้
แต่สถานการณ์ในญี่ปุ่นถือว่าแตกต่างจากเอเชียประเทศอื่น เด็กๆ ได้รับโภชนาการที่ดี ขณะที่อัตราโรคอ้วนในเด็กต่ำมาก ปัจจัยสำคัญอยู่ที่อาหารกลางวันในโรงเรียน
รายงานยูนิเซฟชี้ว่า ญี่ปุ่นเป็นที่ 1 ด้านตัวชี้วัดสุขภาพเด็ก อัตราการเสียชีวิตของทารกต่ำ เด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์น้อย ในบรรดา 41 ประเทศพัฒนาแล้วในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) และสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่นมีเด็กอ้วนน้อยที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสุขภาพ กำหนดให้เด็กต้องตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ แต่โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนทั่วประเทศก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก
“อาหารกลางวันในโรงเรียนประถมทุกโรง และโรงเรียนมัธยมใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ได้นักโภชนาการมาจัดสรรเมนูให้” มิตสุฮิโกะ ฮารา กุมารแพทย์และอาจารย์มหาวิทยาลัยTokyo Kasei Gakuinให้ข้อมูล
ทั้งนี้ โรงเรียนต้องจัดอาหารกลางวันให้นักเรียน ไม่อนุญาตให้นักเรียนนำอาหารมารับประทานเอง แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้แจกให้ฟรี แต่ก็ราคาถูกเพราะรัฐบาลสนับสนุนให้มาก
อาหารกลางวันแต่ละมื้อให้พลังงานราว 600-700 แคลอรี มีคาร์โบไฮเดรต เนื้อหรือปลา และผักสมดุลกัน
ตัวอย่างอาหารกลางวันของนักเรียนใน จ.กุมมะ ประกอบด้วยข้าวกับปลาย่าง ผัดผักขมและถั่วงอก เสิร์ฟพร้อมมิโซะซุปกับหมู ของหวานเป็นนมและพรุนแห้ง
“อาหารกลางวันในโรงเรียนมีสารอาหารที่นักเรียนไม่ค่อยได้รับประทานจากที่บ้าน ดิฉันคิดว่ามีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนสำหรับเด็กๆ” มิยูมิ อุเอดะ เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการกล่าว
สิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศตะวันตกคือ เสิร์ฟอาหารกลางวันในห้องเรียน ไม่ใช่ในโรงอาหาร บ่อยครั้งที่นักเรียนตักอาหารให้เพื่อนๆ แล้วทำความสะอาดห้องเรียนหลังรับประทานเสร็จ
มื้ออาหารไม่มีแบบอื่นนอกจากที่โรงเรียนกำหนดไว้ ไม่มีอาหารมังสวิรัติหรืออาหารตามข้อกำหนดของศาสนาอื่น เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีน้อยมากในญี่ปุ่น และอาหารกลางวันไม่ได้มีไว้ให้เด็กอิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้พวกเขาด้วย
“โรงเรียนออกอากาศเสียงตามสายอธิบายว่า อาหารวันนี้มีสารอาหารอะไรบ้าง นี่คือเป็นวิธีที่ดีในการให้ความรู้เด็ก” ฮาราอธิบาย ขณะที่อูเอดะเสริมว่า กฎหมายกำหนดให้อาหารกลางวันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา อาหารไม่ได้มีแค่รับประทาน แต่เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงการแจกจ่ายและทำความสะอาดด้วยตนเอง
อุเอดะกล่าวด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นศึกษาเรื่องสารอาหารและพฤติกรรมการรับประทานในญี่ปุ่นทุกปี แล้วนำผลการศึกษามาออกแบบอาหารกลางวันในโรงเรียน
อาหารกลางวันในโรงเรียนของญี่ปุ่นมีประวัติย้อนไปตั้งแต่ปี 2432 โรงเรียนใน จ.ยามากาตะทางภาคเหนือ แจกข้าวปั้นหน้าปลาย่างให้กับเด็กยากจน จากนั้นโครงการขยายไปทั่วประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กอดอยากในช่วงที่ประเทศขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
“ชาวญี่ปุ่นหลายคนห่วงสุขภาพ พยายามรับประทานอาหารหลากหลาย และเราถูกสอนให้รับประทานอาหารตามฤดูกาล ซึ่งทำให้สุขภาพดีด้วย ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดู” ฮาราย้ำถึงปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพประชากร