'รัฐบาล'ชงงบอีอีซีเข้าสภา กระตุ้นลงทุน3แสนล้าน
รัฐบาลเตรียมชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ2563 ต่อสภาผู้แทนราษฎร 17-18 ต.ค.นี้ ของบดันอีอีซี 1.7 หมื่นล้านบาท หวังดึงลงทุน 3 แสนล้านบาท
รัฐบาลเตรียมชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17-18 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐบาลเสนอวงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเสริมสร้างศักยภาพคน
สำนักงบประมาณได้สรุปร่างงบประมาณที่จะเสนอสภาผู้แทนราษฎร สำหรับยุทธศาสตร์การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน กำหนดให้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพแบ่งเป็น 16 แผนงานรวมวงเงิน 380,803 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.9% ของวงเงินงบประมาณ
ในจำนวนแผนงานดังกล่าวมีการกำหนด แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงิน 17,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ที่เชื่อมการขนส่งโครงข่ายทุกมิติแบบไร้รอยต่อทั้งทางบก ราง น้ำและอากาศ
นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การจัดการสิ่งแวดล้อม การยกระดับการท่องเที่ยว ส่งเสริมการพัฒนาเมืองในรูปแบบเมืองอัจฉะริยะ (สมาร์ทซิตี้) การพัฒนาบุคลากรรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตและภาคบริการ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการมาลงทุน
รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้มาลงทุน และการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมจัดทำมาตรการในการดูแลและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน โดยจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน
แผนงานบูรณาการอีอีซีได้กำหนดมูลค่าการลงทุนในอีอีซี 3 จังหวัด ไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท/ปี โดยมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี
สำหรับแนวทางการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวมี ดังนี้ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ 13,791 ล้านบาท ซึ่งจะผลักดันโครงการ EEC Project List ได้รับการพัฒนา 6 โครงการ รวมทั้งพัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ (สนามบิน ท่าเรือ ถนน และรถไฟ) พัฒนาศักยภาพสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง
ในขณะที่ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการได้รับการพัฒนา 19 แห่ง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณส่วนนี้ 11,124 ล้านบาท ส่วนการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้รับงบประัมาณ 1,169 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบประปาที่ให้บริการแก่ประชาชนในอีอีซี
2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 231 ล้านบาท โดยจะมีการตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต 1 แห่ง ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
3.การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว 19.4 ล้านบาท โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดเป้าหมายผู้มาเยี่ยมเยือนอีอีซีทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น 10% โดยมีโครงการบูรณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีอีซี การดึงงานระดับโลกในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติก Asia Airshow Farnborough งานแสดงสินค้า บริการโชว์เคสและการประชุมนานาชาติด้านการบินพาณิชย์ การบำรุงรักษาอะไหล่และการบริการ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วม 35,000 คน