ปรากฏการณ์ผู้นำ 20 ประเทศเยือนไทย ร่วมถก 'อนาคต' เศรษฐกิจครึ่งโลก

ปรากฏการณ์ผู้นำ 20 ประเทศเยือนไทย  ร่วมถก 'อนาคต' เศรษฐกิจครึ่งโลก

ประเทศไทยในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 ที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี 

สุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าประเทศไทยมีความพร้อมเป็นอย่างมากในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ที่มีความสำคัญกับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงมีเสถียรภาพของภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์

ขณะเดียวกัน อาเซียน ยังคงชูมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก (An ASEAN Indo – Pacific Outlook) ที่ไม่กีดกันใคร แม้ทัศนคติไม่ตรงกันเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่ต่างยอมรับซึ่งกันและกันได้ โดยอาเซียน พร้อมเป็นเวทีที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจ ร่วมหารือกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหา และหาทางออกในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะ ด้านการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาค รวมไปทั้งด้านเศรษฐกิจที่จะสนับสนุนการค้าชายแดนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคระหว่างประเทศสมาชิกให้สามารถค้าขายสินค้าได้มากขึ้น

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 นี้ จะผู้นำและตัวแทนจากกว่า 20 ประเทศ เข้าร่วม โดยจะมีการประชุมที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งการเจรจาระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา การหารือระหว่างภาคเอกชน ก่อนจะมีพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน ให้กับประเทศเวียดนาม ในวันที่ 4 พ.ย.นี้”

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ประสานงานหลักเสาเศรษฐกิจ กล่าวว่าในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 (Priority Economic Deliverables) ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น โดยปัจจุบันอาเซียนได้ดำเนินการไปแล้ว 7 ประเด็น ได้แก่

1.การจัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน

2.แนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

3.ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

4.การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน

5.การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

6.การจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน

และ 7.การจัดทำความบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนและมหาวิทยาลัย/หรือสถาบันวิจัยในอาเซียน

โดยในช่วงการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 35 คาดว่าจะมีการรายงานความสำเร็จเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ 1.การจัดทำหลักเกณฑ์กรอบการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น 2.การจัดทำแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน และ 3.ผู้นำจะประกาศความสำเร็จในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP ) รวมประเด็นด้านเศรษฐกิจฯ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 10 ประเด็น

ส่วนอีก 3 ประเด็นที่เหลือจะเป็นการรายงานความคืบหน้าให้ผู้นำรับทราบว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่ 1.แผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน 2. การเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เพื่อแลกเปลี่ยนใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน

สำหรับความคืบหน้าการเจรจาความตกลง RCEP ในปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก โดย ในการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 11-12 ต.ต. ที่ผ่านมารัฐมนตรี RCEP ทั้ง 16 ประเทศต่างยินดีที่ได้ทราบว่าการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 28 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามสามารถสรุปผลการเจรจาเปิดตลาดได้แล้ว 80.4% ใกล้จะจบ 16% และเหลือการเจรจาเปิดตลาดที่จะต้องเร่งหารือกันต่ออีก 3.6% เท่านั้น รัฐมนตรีจึงได้ร่วมกันมอบหมายนโยบายในเรื่องที่ยังค้างอยู่แก่คณะเจรจา เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาและประกาศความสำเร็จการเจรจา RCEP ได้ภายในปีนี้ตามเป้าหมายที่ผู้นำตั้งไว้ ซึ่งในระหว่างการประชุมเตรียมการเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนระหว่างวันที่ 31 ต.ค.นี้จะมีการหารือกันในเรื่องนี้ต่อเนื่องเพื่อเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนรับทราบความคืบหน้าซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการหารือกันได้แล้วเสร็จในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยในครั้งนี้

โดยขณะนี้ความตกลง RCEP ทั้งหมด 20 บท และ 4 ภาคผนวก สามารถสรุปได้แล้ว 14 บท 4 ภาคผนวก สำหรับอีก 6 บทที่เหลือ สมาชิก RCEP ต้องเร่งหาข้อสรุปในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 10 วัน ก่อนนำเสนอผู้นำประกาศสรุปผลการเจรจาต่อไปในช่วงการประชุมผู้นำ RCEP ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งหากการหารือได้ข้อสรุปตามที่ชาติสมาชิกมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการผลักดันให้ RCEP แล้วเสร็จเพื่อช่วยเป็นทางออกของสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่อึมครึมเนื่องจากบรรยากาศสงครามการค้าความตกลง RCEP จะช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่อง กฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกัน และสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคและการค้าโลกได้

“หากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้จะครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศรวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านดอลาร์ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิก16 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันที่จะผลักดันการเจรจาให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว”

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในการประชุมด้านสังคมและวัฒนธรรมจะสร้างความเชื่อมโยงภาคประชาชน และการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเตรียมพร้อมวางแผนด้านความมั่นคงของมนุษย์สำหรับอนาคต และในการประชุมครั้งนี้จะมีการเปิดศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม นอกจากนี้จะมีการเสนอเอกสารผลลัพธ์ต่อที่ประชุม จำนวน 9 ฉบับ แบ่งเป็นเอกสารเพื่อรับรองจำนวน 6 ฉบับ และเอกสารเพื่อทราบจำนวน 3 ฉบับเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันในมิติของสังคมและวัฒนธรม ที่จะมีการเชื่อมโยงกันในมิตินี้มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 2 -3 พ.ย. สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนได้ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนจัดงาน ABIS คู่ขนานกับการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งได้กำหนดแนวคิดในการจัดงาน คือ “Empowering ASEAN 4.0” ประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก คือ 1.Digital Infrastructure 2.Digital Connectivity 3.Human Resource Development และ 4. MSMEs โดยจะมีการเชิญผู้นำ ทั้งจากประเทศคู่เจรจาของอาเซียนและประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งภาคธุรกิจร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-นายกฯ กล่อม 'สภาฯ' ผ่าน 'ร่างพ.ร.บ.งบฯ63' 3.2ล้านล้าน
-'7 ข้อควรรู้' งบประมาณ ปี 2563
-'ผู้นำฝ่ายค้าน' จี้ นำร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ทบทวนใหม่
-'ฝ่ายค้าน-รัฐบาล' อัด ร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่ตอบโจทย์วิกฤตศก.