‘ไมโครซอฟท์’ ชู เอไอ ปฏิรูปธุรกิจไทย
ชี้อินฟราฯ พร้อม องค์กรตื่นตัวลงทุนไอที
“ไมโครซอฟท์” เปิดพันธกิจลุยดิจิทัลไทย มุ่งผลักดันการใช้เอไอ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ พัฒนาทักษะดิจิทัล ชี้จะแกร่งได้ต้องเร่งพัฒนา-เพิ่มความสามารถด้านเทคโนโลยี ระบุไม่ทิ้งตลาดคอนซูเมอร์ เล็งส่งเซอร์เฟสใหม่เขย่าตลาดโค้งสุดท้ายของปี
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวทางธุรกิจของไมโครซอฟท์ประเทศไทยจากนี้ให้ความสำคัญกับ 3 พันธกิจคือ ยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ไซเบอร์ซิเคียวริตี้-ความปลอดภัยข้อมูล และการพัฒนาทักษะดิจิทัล
บริษัทคาดว่า เอไอจะถูกนำไปปรับใช้กับระบบงานหลักของธุรกิจ ไม่ใช่แค่โครงการต้นแบบหรือทดลอง และจะแพร่หลายไปทุกอุตสาหกรรม เช่น งานด้านการพัฒนาและวางแผนผลิตภัณฑ์ คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจ ลดต้นทุน พัฒนาโมเดลธุรกิจและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ฯลฯ จากวันนี้ที่หลายธุรกิจเริ่มตื่นตัว จะมีการยกระดับใช้งานและบูรณาการมากขึ้น
ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ต้องเร่งลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแรนซัมแวร์เติบโตมากถึง 750% กว่า 90% ของการโจมตีทางไซเบอร์มาในรูปแบบฟิชชิ่งอีเมล มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากฟิชชิ่งอยู่ที่ราว 1.6 ล้านดอลลาร์ มีการคาดการณ์ด้วยว่าภายในปี 2565 มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมไซเบอร์ทั่วโลกจะสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับประเทศไทย เมื่อถึงเดือนพ.ค.ปี 2563 ซึ่งพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้ ธุรกิจองค์กรจะต้องรู้จักข้อมูลตนเอง ทราบถึงวิธีการบริหารจัดการ รวมไปถึงป้องกันข้อมูลลูกค้าให้ได้
นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้คือการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อให้สอดรับกับการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ปัจจุบันในไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเพียง 3.4 แสนคน โดยไมโครซอฟท์ มุ่งผลักดันให้เกิดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี “Tech Capability” ในทุกระดับ ตั้งแต่การพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลสำหรับเยาวชนไปจนถึงคนทำงาน พร้อมๆ ไปกับขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะทาง รวมไปถึงยกระดับให้พนักงานและผู้บริหารทุกคนสามารถลงมือสร้างสรรแอพพลิเคชั่นและเครื่องมือต่างๆ ด้วยตนเอง
เขากล่าวว่า จะเกิดความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีมาใช้งานในธุรกิจได้(Tech Intensity) ต้องมี 2 องค์ประกอบสำคัญคือ การพัฒนาทางเทคโนโลยีและความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ประเมินขณะนี้นับว่าอินฟราสตรักเจอร์ของประเทศไทยมีความพร้อม ที่เหลือคือการปรับแนวคิดและคิดโครงการที่จะทำขึ้นมา
จากประสบการณ์ 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งเอ็มดีไมโครซอฟท์ประเทศไทย ธนวัฒน์เผยว่า ได้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจคือ ธุรกิจไทยทุกๆ อุตสาหกรรมมีความกระตือรือต้นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อสร้างจุดต่างธุรกิจ
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีไอทีถูกจัดลำดับให้มีความสำคัญลำดับต้นๆ ขององค์กร เห็นได้จากการจัดทำคอร์สเรียน อบรมสัมมนาด้านดิจิทัลให้กับพนักงานระดับผู้บริหาร และผู้ประกอบการทุกระดับ
พร้อมระบุว่า แนวทางการทำตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์จะมีความแอคทีฟอย่างมากเช่นกัน โดยทางไมโครซอฟท์เตรียมเปิดตัวเซอร์เฟสรุ่นใหม่ในเดือนธ.ค.ปีนี้