‘โศกนาฏกรรม 39 ศพ’ เปิดแผลยุโรป
โศกนาฏกรรม 39 ศพที่เป็นชาวจีนและอาจมีชาวเวียดนามรวมอยู่ด้วย ถือเป็นการเปิดแผลเก่าของยุโรปที่ชวนให้ตั้งคำถามในหลายประเด็น
ข่าวการพบ 39 ศพเชื่อว่าเป็นชาวจีนในตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นท้ายรถบรรทุกที่นิคมอุตสาหกรรมนอกกรุงลอนดอน ถือเป็นข่าวสะเทือนขวัญที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ ยังตกตะลึง ระหว่างที่ตำรวจกำลังสอบสวนหาสาเหตุ หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สในเครือหนังสืิอพิมพ์พีเพิลส์เดลีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนชี้ว่า อังกฤษและชาติยุโรปต้องรับผิดชอบกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้
แพทย์และตำรวจอังกฤษพบศพชาย 31 คน และหญิง 8 คน ที่นิคมอุตสาหกรรมเมืองเกรย์ส มณฑลเอสเซกส์ ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันออกราว 30 กิโลเมตร เมื่อวันพุธ (23 ต.ค.) นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลายปีมาแล้วที่ผู้ลักลอบเข้าเมืองต้องหลบมาในรถบรรทุกเพื่อหาทางเข้ามาในอังกฤษ บ่อยครั้งมาจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป เช่น เมื่อปี 2543 เกิดเหตุพบชาวจีน 58 คนเสียชีวิตอยู่ในรถบรรทุกมะเขือเทศที่ท่าเรือโดเวอร์
สำหรับเหตุร้ายล่าสุด บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สที่มีผู้อ่านกว้างขวางในประเทศจีน ฉบับวันศุกร์ (25 ต.ค.) ระบุว่า ณ เวลานี้ตอบไม่ได้ว่าความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมมีมากแค่ไหน
“แต่หายนะด้านมนุษยธรรมครั้งร้ายแรงแบบนี้ เกิดขึ้นในสายตาของอังกฤษและยุโรป จึงชัดเจนว่าอังกฤษและประเทศยุโรปที่เกี่ยวข้องไม่รับผิดชอบดูแลชีวิตคนเหล่านี้ได้ดีพอแม้พวกเขาลักลอบเข้าประเทศ แต่ความตายของเหยื่อไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เราหวังว่าอังกฤษและประเทศยุโรปจะทำคำมั่นนานัปการเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริงเสียที และพยายามทำให้ชาวจีนปลอดจากการถูกล่วงละเมิดและเสียชีวิตกะทันหัน”
บทบรรณาธิการกล่าวด้วยว่า ดูเหมือนอังกฤษไม่เคยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่โดเวอร์เมื่อ 20 ปีก่อนเลย
“ลองนึกภาพประเทศยุโรปทั้งหมดจะทำอย่างไร หากชาวยุโรปหลายสิบคนประสบโศกนาฏกรรมตายหมู่แบบเดียวกันนี้ ชาวอังกฤษและยุโรปน่าจะถามตัวเองว่าทำไมถึงไม่สามารถป้องกันเรื่องเศร้าแบบเดิมๆ ได้ พวกเขาลงมือแก้ไขปัญหาจริงจังสุดความสามารถหรือยัง”
ด้านสถานทูตจีนในกรุงลอนดอนแถลงว่า ตำรวจอังกฤษเผย ยังไม่ยืนยันว่า 39 ศพที่พบเป็นชาวจีนโดยในวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.) ตง ซู่จุน เจ้าหน้าที่กงสุลจีนเดินทางไปยังแคว้นเอสเซกส์ ตำรวจเผยกับเขาว่ารถบรรทุกดังกล่าวเดินทางมากับเรือเฟอร์รีจากเบลเยียม
ตงเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีน ในวันเดียวกันนั้นว่า เขาได้พบกับตำรวจอังกฤษ
“เราจะกระตุ้นให้ตำรวจค้นหาความจริงเพิ่มเติม แล้วจะแจ้งให้สื่อทราบถึงความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์”
โฆษกสถานทูตจีนแถลงผ่านเว็บไซต์ ระบุ ตำรวจกำลังพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของผู้เสียชีวิต และไม่ยืนยันว่าเป็นชาวจีนหรือไม่
มรณกรรมของทั้ง 39 ชีวิตชวนให้คิดถึงเหตุการณ์เมืื่อวันที่ 18 มิ.ย.2543 เจ้าหน้าที่ศุลกากรพบ 58 ศพอัดอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นท้ายรถบรรทุกสัญชาติดัชท์ ที่ท่าเรือโดเวอร์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ มีผู้รอดชีวิต 2 คน
ในจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นชาย 54 คน เป็นหญิง 4 คน อายุระหว่าง 16-43 ปี ทั้งหมดเป็นผู้ย้ายถิ่นชาวจีน กำลังถูกส่งตัวไปในรถบรรทุกมะเขือเทศ รถคันดังกล่าวลงเรือเฟอร์รีมาจากท่าเรือเซบรูกเกอในเบลเยียม
ปี 2545 เพอร์รี แวกเกอร์ คนขับรถบรรทุกชาวดัตช์ ถูกศาลอุทธรณ์จำคุก 14 ปี ในข้อหาฆาตกรรมและสมรู้ร่วมคิดช่วยเหลือคนลักลอบเข้าเมือง อัยการเผยว่า แวกเกอร์ปิดช่องระบายอากาศเพียงช่องเดียวทำให้ผู้อพยพหายใจไม่ออก
ส่วนกูร์เซล ออสคาน หัวหน้าเครือข่ายค้ามนุษย์ชาวตุรกีถูกศาลเนเธอร์แลนด์พิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน
วันที่ 27 ส.ค.2558 ช่วงที่ยุโรปเกิดวิกฤติผู้อพยพถึงขีดสุด ตำรวจออสเตรียพบศพผู้อยพ 71 ศพเน่าสุมกันอยู่ท้ายรถแช่ไก่จอดทิ้งไว้บนทางหลวงใกล้ชายแดนฮังการี เป็นผู้ชาย 59 ศพ ผู้หญิง 8 ศพ เด็กวัยเตาะแตะ 1 ศพ และเด็กชาย 3 ศพ
สอบสวนพบว่าผู้อพยพกลุ่มนี้หนีความขัดแย้งมาจากซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน เดินทางมาตามเส้นทางบอลข่านถึงฮังการี แล้วขบวนการค้ามนุษย์จัดการส่งตัวขึ้นรถบรรทุกเพื่อเดินทางต่อไปที่อื่น
ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวมีพื้นที่เพียง 14 ตารางเมตร อากาศหายใจมีไม่ถึง 30 ลูกบาศก์เมตร เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพเผยว่า พวกเขาเข้าไปอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ปิดสนิทได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็สิ้นใจขณะยังอยู่ในเขตฮังการี
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเปิดโปงเครือข่ายค้ามนุษย์มืออาชีพ นำโดยซัมซูร์ ลาฮู ชายหนุ่มชาวอัฟกานิสถาน เขาถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกตลอดชีวิตในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมขบวนการชาวบัลแกเรียอีก 3 คน
ความตายของคนกลุ่มนี้เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ และหลังจากนั้นไม่นานนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ประกาศว่าเธอจะเปิดพรมแดน สุดท้ายเยอรมนีรับผู้ลี้ภัยกว่า 1 ล้านคน
เหตุการณ์ทำนองเดียวกันแต่มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่ายังเกิดขึ้นที่ไอร์แลนด์ อิตาลี และเนเธอร์แลนด์
ส่วนที่อังกฤษก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุเมืื่อปี 2557 ชาวอัฟกานิสถาน 34 คน ถูกพบอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือทิลเบอรีในสภาพขาดน้ำอย่างรุนแรง อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ และขาดอากาศหายใจ ชายคนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างข้ามทะเลออกจากเบลเยียม