เปิดกลยุทธ์ 'ไทย' สมดุลอำนาจ 'สหรัฐ-จีน'
การประชุมอาเซียนซัมมิตที่กำลังจะเกิดขึ้นสุดสัปดาห์นี้มีอะไรมากกว่าแค่การกล่าวสุนทรพจน์ แต่เป็นเวทีนี้นอกจากไทยแสดงบทบาทผู้นำภูมิภาคแล้ว ยังมีประเด็นแทรกที่ว่าด้วย "สมดุลอำนาจ" ระหว่างสหรัฐและจีนโดยมีไ่ทยเป็นผู้เล่น ผู้เลือก
ประเทศไทยมีขนาดเล็กกว่ารัฐบางแห่งในสหรัฐ ขณะเดียวกันทั้งขนาดและจำนวนประชากรไทยก็มีน้อยกว่าบางมณฑลของจีน ท่ามกลางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศขณะนี้ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การวางอิทธิพลในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก กลยุทธ์ไทยควรสร้าง “สมดุล”สองขั้วมหาอำนาจนี้อย่างไร
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 2-5 พ.ย.2562 จะมีผู้นำอาเซียนเข้าร่วมประชุมครบ 10 คน ในขณะที่ประเทศคู่เจรจา 7 ประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม ยกเว้นสหรัฐที่ยังรอการรอยืนยันหัวหน้าคณะจากสหรัฐ ในขณะที่จีน มีนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน มาเข้าร่วมประชุม และรัฐบาลไทยเชิญนายกรัฐมนตรีจีนหารือข้อราชการที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 พ.ย.นี้
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเอกสารที่จะลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2-5 พ.ย.นี้ โดยเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ มีทั้งหมด 45 ฉบับ และ ครม.ครั้งนี้เห็นชอบ 22 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.เอกสารที่ผู้นำจะรับรอง (to be adopted) จำนวน 13 ฉบับ เช่น ร่างปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครอง เด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน 2.เอกสารที่ต้องออกแถลงการณ์ของประธานการประชุมฯ (to be issued) จำนวน 8 ฉบับ เช่น ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 22 และร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน–อินเดีย ครั้งที่ 16 เป็นต้น
3.เอกสารที่รัฐมนตรีต่างประเทศจะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างตราสารขยายจำนวนอัตราภาษีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ครั้งที่ 3 เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบ ซึ่งแถลงการณ์ร่วมผู้นำ หรือ Joint Leaders 'Statement ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีคำว่า “สามารถสรุปการเจรจาได้” หรือ Conclusion จึงจะถือว่าการเจรจาอาร์เซ็ปประสบความสำเร็จ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนมีกำหนดหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีไทยที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 พ.ย.นี้
การเดินทางมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีจีนครั้งนี้ จะใช้โอกาสนี้ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีน และกำหนดทิศทางพัฒนาความสัมพันธ์ในระยะต่อไป รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกันในเรื่องอื่นด้วย
นอกจากนี้ จะหารือโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) หรือโครงการรถไฟไทย-จีน วงเงิน 179,412 ล้านบาท ที่เริ่มก่อสร้างแล้ว แต่ยังมีความล่าช้า
ทั้งนี้ การประชุม ครม.เศรษฐกิจ วานนี้ (29 ต.ค.) กำหนดให้สรุปปัญหาอุปสรรคเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์นำไปหารือกับนายกรัฐมนตรีจีน เพื่อหาทางแก้ปัญาให้เป็นรูปธรรม โดยให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปหาข้อสรุปให้ชัดเจนว่าในการจัดทำราคาที่ตกลงในสัญญาในโครงการรถไฟไทย-จีนควรเป็นเงินสกุลใด ระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท เพื่อนำข้อสรุปไปหารือกับนายกรัฐมนตรีของจีน
รวมทั้ง ที่ผ่านมาการกำหนดสกุลเงินสัญญา ได้มีการหารือของระดับเจ้าหน้าที่ จึงต้องการให้ระดับนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งเรื่องนี้คงได้ข้อสรุปใน 2-3 วัน โดยเฉพาะตัวแทนจาก ธปท.จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้
“โครงการรถไฟไทย-จีน เดินหน้าก่อสร้างไปแล้วแต่มีความล่าช้า เพราะเป็นโครงการระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ทั้ง 2 รัฐบาลต้องทำงานร่วมกันและที่ผ่านมาจีนอาจไม่เคยทำโครงการลักษณะนี้กับประเทศอื่น ส่วนไทยก็ไม่เคยทำงานในโครงการลักษณะนี้เช่นกัน” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนระหว่างไทยกับรัฐบาลจีน เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนอย่างรอบด้าน ได้แก่ ความสัมพันธ์ในภาพรวม เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษา วัฒนธรรมและความเชื่อมโยงระดับประชาชน การเมืองและความมั่นคง และความร่วมมือในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ
นอกจากนั้น ครม.ได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลจีน 2 ฉบับ ที่จะลงนามวันที่ 5 พ.ย.นี้ คือ 1.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน
เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมบนหลักของการต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ข้อริเริ่มเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางครอบคลุม 11 ด้าน
2.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระหว่างกระทรวงกลาโหมกับคณะกรรมการบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งจีน เพื่อแสดงเจตจำนงทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมมือกันเสริมสร้าง ขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สถานะล่าสุด ตอนนี้มีผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน 2.สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียะห์ มูอิซซัดดีน วัดเดาละห์ นายกรัฐมนตรีบรูไน
3.นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ 4.นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 5.นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 6.นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 7.นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา 8.สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา 9.นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว 10.นายเหวียน ซวน ฟุค นายกรัฐมนตรีเวียดนาม
ส่วนผู้นำประเทศคู่เจรจา จะเป็นระดับนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม ได้แก่ 1.นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน 2.นายอี นัก-ยอน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ 3.นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น 4.นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย 5.นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ 6.นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และ 7.นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย
นอกจากนี้ นายลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และนางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้าร่วมในการประชุมที่เกี่ยวข้องด้วย
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย ว่า ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เป็นนักธุรกิจที่เข้ามาทำงานในฐานะผู้นำสหรัฐ จึงสนใจเรื่องธุรกิจการค้าพิจารณาได้จากหลังเข้ารับตำแหน่งคือการตรวจสอบว่าประเทศใดได้ดุลการค้าสหรัฐ ซึ่งไทยอยู่ในรายการนั้นด้วย
“ทรัมป์เวลาเดินทางไปต่างประเทศจะดิวการค้าสินค้าสหรัฐด้วย ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศที่มีเรื่องเศรษฐกิจการค้ามารวมอยู่ด้วย ขณะที่เราคุ้นเคยกับนโยบายสหรัฐ ที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองความมั่นคง”
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐถือว่าไม่ได้แย่ แต่ผลพวงของการรัฐประหารทั้งสองครั้งที่ผ่านมาซึ่งสหรัฐก็ไม่ตอบรับ ขณะเดียวกันก็มีการขยับของยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศไทยในช่วงเวลาหลักรัฐประหารว่าด้วยการ เข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
ฝากสหรัฐก็ส่งสัญญาณความไม่พอใจ หลังรัฐประหารในรูปแบบต่างๆ เช่น การค้ามนุษย์ การดูแลสิทธิแรงงาน ผ่านการเรียกร้องจากผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ ยูเอสทีอาร์ ซึ่งผู้แทนรัฐบาลไทย อาจไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่มีสัญญาณมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงการเลือกตั้งของไทย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ คงได้มีการเตือนบ้างแล้ว
“เมื่อสหรัฐเปิดแรงกดดันกับไทยมากขึ้นก็ไม่ใช่ว่าไทยไปหาจีนมากขึ้น เพราะจีนเองก็มีข้อเรียกร้องต่างๆมากเช่นกัน ทำให้ไทยควร วางนโยบายให้ชัดเจนไม่ใช่ถูกกดดันจากฝ่ายหนึ่งและหนีไปเกาะท้ายอีกฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นเด็กที่วิ่งรับอำนาจไม่เลิก”
การส่งสัญญาณของไทยว่าด้วยการทิ้งห่างจากโลกตะวันตกโดยสร้างความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นอาจไม่ใช่ผลดีในระยะยาว แม้ไทยจะเป็นประเทศขนาดเล็ก ยากที่จะวางตัวให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เสียเปรียบให้น้อยที่สุด ก็ตาม