รู้ทันกลโกง‘แชร์ลูกโซ่’ หัดสังเกตก่อน‘หมดตัว’
ต้องยอมรับว่า “แชร์ลูกโซ่” อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน เพียงแต่ปลี่ยน “สินค้า”ที่นำมาเป็น “จุดขาย”ในการหลอกลวงให้เข้ากับยุคสมัย มีตั้งแต่แชร์ทองคำ แชร์หุ้น แชร์คริปโต จนล่าสุดมาถึง“แชร์ออมเงิน” หรือ “แชร์ลูกโซ่แม่มณี” ที่กำลังโด่งดังอยู่ขณะนี้
โดยอาศัยจังหวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ประชาชนทั่วไปไม่อยากฝากเงินไว้กับธนาคารนานๆ และมองหาสินทรัพย์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ( Search for yield) นำเสนอ “เงินออม”รูปแบบใหม่ ที่ให้ผลตอบแทนสูงลิ่ว
ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานออกโรงเตือนประชาชนหลายครั้ง ให้ระมัดระวัง หัดตั้งข้อสังเกต และมีคำถามกับการชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง และมีลักษณะให้ชักชวนคนอื่่นมาลงทุนต่อไปเรื่อยๆ แต่บรรดามิจฉาชีพก็หัวใด สรรหาสารพัดวิธีมาสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใด เปลี่ยนสินค้าชูโรงไปกี่ประเภท หากสังเกตก็จะเห็นว่าแชร์ลูกโซ่ก็จะมีพฤติกรรมที่เหมือนๆกัน
“ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน” ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ชี้ให้เห็นว่า แชร์ลูกโซ่ออมเงินยังมาด้วยกลโกงเดิมๆ คือ 1. อ้างว่าเอาเงินไปลงทุน 2. อวดผลตอบแทนสูง 3. มาเยอะๆชวนเพื่อนมาได้อีก 4. หลงเชื่อเทเงินไปหมดหน้าตัก สุดท้ายอาจถูกเชิดเงินหายเกลี้ยง
“พรชัย ฐีระเวช” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและอย่าหลงเชื่อกับการชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนในแชร์ออนไลน์ที่มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ โดยวิธีสังเกตลักษณะของแชร์ลูกโซ่มีดังนี้ 1.มีการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุน 2.เสนอผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาอันสั้น 3.ผู้ที่ชักชวนประกอบธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้ประกอบธุรกิจใด ๆ แต่ใช้วิธีการหมุนเวียนเงิน 4.เมื่อไม่สามารถหาสมาชิกมาลงทุนเพิ่มได้ก็จะปิดกิจการหนีไป
สำหรับประชาชนที่ถูกชักชวนหรือถูกหลอกลวง ขอให้ท่านแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ) หรือส่งเรื่องร้องเรียนมาที่สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. ซึ่ง สศค. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด
จากคำเตือนข้างต้น เราสามารถสังเกตวิธีการกลโกงของแชร์ลูกโซ่ได้ง่ายๆ เริ่มต้นจากคนที่ชักชวนจะ “สร้างภาพให้คนหลงเชื่อ” อาจจะเป็นการเข้าไปเชิญชวนด้วยตัวเอง คนที่รู้จักกัน จัดสัมมนา หรือ การชักชวนในไลน์ หรือแอพพลิเคชั่น โซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ โดยสร้างแผนธุรกิจหรือรูปแบบธุรกิจใดๆก็ตามที่มุ่งเน้นหรือจูงใจให้คนสนใจและนำเงินไปลงทุน
จากนั้นจะ อ้างถึง “ผลกำไร” หรือ “ตอบแทน” ที่มากกว่าที่สถาบันการเงินให้ มีการสร้างภาพจัดฉากให้ดูมั่นใจและน่าสนใจในการลงทุน สิ่งที่น่ากลัวคือผู้ที่ถูกหลอกนอกจากจะตกเป็น “เหยื่อ”แล้วอาจจะกลายเป็น“ผู้ต้องหาร่วม” ทันที หากชวนคนอื่นมาลงทุนในฐานะที่เป็นแม่ทีมหรือแม่สายรายสำคัญ
ฉะนั้น ใครที่จะเข้าไปลงทุนใดๆก็ตาม ควรมีการตรวจสอบหรือวิเคราะห์โครงสร้างแผนการลงทุนก่อนว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ การลงทุนใดๆที่ให้ผลตอบแทนเกิน 5%ต่อวัน หรือ10-90%ต่อเดือน เช่นนี้เป็นไปได้หรือไม่ หากไม่แน่ใจ ให้ตั้งธงไว้ก่อนเลยว่า ธุรกิจที่ลงทุนในเวลาอันสั้น ได้ผลตอบแทนเร็วและสูง “มักจะไม่มีอยู่จริง” เนื่องจากตอนนี้ผลตอบแทนการลงทุนจริงๆนั้น ยังอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก แต่หากเป็นการลงทุนระยะยาว พบว่าสินทรัพย์ต่างๆก็ยังให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี
โดยธนาคารกรุงไทย รายงานรายงานผลตอบแทนจากการลงทุน (ตามราคา) ของสินทรัพย์ประเภทต่างๆในอดีตย้อนหลัง12เดือน และย้อนหลัง 3ปี พบว่าผลตอบแทนการลงทุนของน้ำมันอยู่ที่ -29% และ7% , หุ้นไทย อยู่ที่ -3.6% และ15% , พันธบัตรรัฐบาลไทย อายุไม่เกิน3ปี อยู่ที่ 3.3% และ6% ,พันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ7-10ปี อยู่ที่ 11.6% และ 17% ,กองทุนรีทต่างประเทศ อยู่ที่ 15.2%และ24% ,กองทุนอินฟราสตักเจอร์ฟันด์ต่างประเทศ อยู่ที่ 15.3%และ24% ,ทองคำ อยู่ที่22.9% และ25% ,กองทุนรีทไทย อยู่ที่ 26.8%และ50%
อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนนั้น “จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย แนะนำผู้ลงทุนให้พยายามศึกษาการลงทุนแต่ละประเภทและจัดพอร์ตตามความเสี่ยงที่รับได้ อย่างเช่น “พอร์ตลงทุนแบบสู้ๆ” เน้นการลงทุนตราสารหนี้40% เน้นลงทุนในประเทศ กองรีทไทย ตราสารหนี้ไทยหรือตลาดเกิดใหม่ และอีก60%ลงทุนในหุ้น เป็นสัดส่วนหุ้นไทย10% และอีก50%เป็นหุ้นต่างประเทศกลุ่มเติบโต เช่น หุ้นญี่ปุ่น หุ้นจีน หุ้นสหรัฐและยุโรป จะได้รับอานิสงก์หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวและการสงครามการค้าสหรัฐกับจีนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น การจัดพอร์ตดังกล่าวที่สามารถรับความเสี่ยงได้10%ของเงินลงทุน จะสร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากกว่านี้
จะเห็นได้ว่า ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ใช่ว่าจะไม่มีทางเลือกสำหรับการลงทุน แต่ก่อนจะลงทุนอะไร ก็ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ส่วนการป้องกันไม่ให้ถูกหลอกไปลงทุนหรือไปร่วมขบวนการแชร์ลูกโซ่นั้น หากจะหยุดความเสียหายดังกล่าว สุดท้ายก่อนจะตัดสินใจลงทุน หรือนำเงินไปทำอะไร ก็ต้องตั้งสติ คิดไว้ว่า "ถ้าไม่โลภ ก็ไม่ตกเป็นเหยื่อ"