คุยหลังฉากการผจญภัยของหนุมานใน ‘สืบมรรคา’
ก่อนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตอน สืบมรรคา (สืบ-มัน-คา) จะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
กรุงเทพธุรกิจชวนไปสืบเรื่องราวหลังฉากว่าด้วยการผจญภัยของหนุมานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระรามให้ไปสืบหาหนทางไปกรุงลงกาให้จงได้ กว่าจะถึงกรุงลงกา หนุมานต้องพบกับอุปสรรคใดบ้าง งานนี้ต้องตามไปสืบกันถึงอาคารเรียนรู้-เรื่องโขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
การผจญภัยเหนือจริง อิงจินตนาการ
ฉากหนุมานเนรมิตกายให้ใหญ่โตเอาหางพาดเป็นสะพานเพื่อให้กองทัพวานรได้ข้ามแม่น้ำ เป็นหนึ่งในฉากไฮไลท์ของการแสดงโขน ตอนสืบมรรคา ถามว่าหนุมานมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน คำตอบคือ มหึมา 15 เมตร ถ้าเสร็จแล้วจะมีแขนขาที่ยืดได้หดได้ แถมยังกลอกตาได้อีกด้วย
สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและสร้างฉากการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ กล่าวว่านอกจากหนุมานแปลงกายแล้ว ทางทีมช่างยังเร่งสร้างฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ที่จำลองขึ้นตามข้อมูลสันนิษฐานสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ตำหนักนางสีดาในสวนขวัญกรุงลงกา และประติมากรรมนางผีเสื้อสมุทรความสูง 5.50 เมตร ทั้งหมดล้วนขึ้นรูปด้วยโฟมทั้งสิ้น
“ทุกอย่างเป็นงานโฟมเพราะมีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก เศษโฟมที่เหลือเราให้บริษัทที่ผลิตโฟมขายให้เรามารับไปนำกลับรีไซเคิล เราจะใส่ถุงดำจัดเก็บไว้ให้” อาจารย์สุดสาคร อธิบายก่อนจะเล่าถึงความคืบหน้าในการทำงานของช่างกว่า 90 ชีวิต
“ในตอนสืบมรรคาจะมีความพิเศษเพราะเรื่องมันเหนือจริง บางตอนจะใช้คนเล่นไม่ได้ เราก็ฉกฉวยโอกาสนี้มาสร้างฉากใหญ่ๆเพื่อช่วยสนับสนุนการแสดงโขนฯ ประกอบกับเรามีช่างซึ่งพระองค์ท่านอุปถัมภ์ไว้ ซึ่งบัดนี้ได้เติบโตและมีฝีไม้ลายมือกันแล้ว จึงไม่ยากในการสร้างงานใหญ่ๆได้
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ครั้งนี้ถือว่าเป็นมหกรรมหุ่น จะเป็นการรวมตัวระหว่างหุ่นหลวง หุ่นกระบอก มีตั้งแต่ตัวใหญ่สุดจนจนกระทั่งตัวเล็กๆ อันนี้เป็นความคิดของ ดร.สุรัตน์ จงดา ปีนี้ท่านเป็นผู้กำกับ เราจะได้เห็นหุ่นที่เราทำมาในอดีตมารวมกันอยู่ในฉากหนุมานสู้กับนางผีเสื้อสมุทร ยักษ์ผู้รักษาท้องทะเลกรุงลงกา
เป็นฉากที่หนุมานจะเข้าไปในปากนางผีเสื้อสมุทร ซึ่งไม่สามารถใช้คนจริงๆเล่นได้ เราก็จะใช้หุ่นเข้าไปแผลงฤทธิ์ในปากของนางผีเสื้อสมุทร ตอนออกมาโดยทะลุช่องท้องจึงใช้นักแสดง"
เจอโจทย์แบบนี้อาจารย์สุดสาคร บอกว่าไม่ยากเลย
“เพราะทีมงานเราเชี่ยวชาญเรื่องประติมากรรม ช่างฝีมือของเรามีชั่วโมงบินค่อนข้างสูง”
เนรมิตปราสาทงามของกรุงศรีอยุธยา
พระราชวังหลวง หรือ พระราชวังโบราณในกรุงศรีอยุธยา มีพระที่นั่งสำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ และ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้เช่นนั้น หากหลักฐานทางโบราณคดีที่นักโบราณคดี นักวิชาการได้ค้นคว้าศึกษาไว้ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์สุดสาครจำลองภาพขึ้นมาจากข้อมูลสันนิษฐาน
โดยฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์จัดสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ในขณะที่ปราสาท 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท และ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ จะปรากฎบนฉากด้านเป็นภาพจิตรกรรมขนาดยาว 20 เมตร สูง 10 เมตร ความน่าสนใจอยู่ที่รายละเอียดของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมนั้นเป็นไปตามแบบแผนของศิลปะอยุธยา
"ตามบันทึกกล่าวถึงพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นปราสาทโถง ไม่มีผนัง ตั้งอยู่บนกำแพงพระราชวัง สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่ และการฝึกซ้อมทหาร เราจินตนาการจากความรู้เรื่องสถาปัตยกรรม
เราสนุกกับโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะอยากจะให้คนมาดูได้สนุก ได้เห็นภาพความงดง่ามของพระที่นั่งที่ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน ถ้าซูมภาพเข้าไปชมรายละเอียดจะเป๊ะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมุขเด็ดข้างหน้า ยอดนภศูล หน้าบัน นาคเบือน เรียกว่าใครอยากเห็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาจะได้เห็นทุกรายละเอียด เราให้ความสำคัญแม้กระทั่งลายผ้า อยากเห็นผ้าลายอย่างก็จะได้เห็น"
ตรงนี้อาจารย์แนะให้สังเกตไปที่ผ้านุ่งของหนุมานบนฉากแปลงกายที่ช่างฝีมือกำลังบรรจงระบายสีอย่างตั้งใจ
“หนุมานนุ่งผ้าลายอย่าง อยากให้สังเกตดูคู่สีที่เราใช้ คนไทยนิยมใช้สีขัดแย้ง เช่น แดงกับเขียว ม่วงกับเหลือง แสดกับคราม สิ่งที่เรานำเสนอถ้าเข้าไปดูใกล้ๆจะไม่ใช่สีแบนๆ เราทำเป็นประติมากรรมที่มีความนูนขึ้นมาเพื่อให้เกิดมิติ ทุกองค์ความรู้ที่ผมนำมาใช้เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสูงสุด”
ตลอดระยะเวลา 10 ในการเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างฉากการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ อาจารย์สุดสาคร กล่าวว่า
"ผมรักงานศิลปะไทยมาตั้งแต่เด็ก ผมเรียนคณะศิลปะประจำชาติไทยที่เพาะช่างฯ คำว่า ศิลปะประจำชาติ ผมรักเมื่อรักแล้วผมอยากนำความรักมอบให้คนอื่นได้เห็นว่า สิ่งที่เราทำจากความรักหน้าตามันเป็นยังไง ในการแสดงโขนฯ ครั้งนี้ ผู้ชมจะได้เห็นศิลปะที่เกิดขึ้นมาจากความรักในจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และนาฏศิลป์ ที่หลอมรวมกันกล่าวได้ว่าเป็นของวิเศษที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พันปีหลวง ทรงพระราชทานให้กับสังคมไทย ทรงเห็นว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมจะนำประเทศมั่นคงและก้าวไปข้างหน้าได้"
สำหรับอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน ณ ศิลปาชีพเกาะเกิด ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของศิลปะการแสดงโขนและผลงานสร้างสรรค์งานศิลปะที่เนื่องด้วยโขนศิลปาชีพ ตลอดจนจัดเก็บฉากและนำอุปกรณ์ประกอบฉากชิ้นเด่นจำนวนมากที่เคยปรากฏบนเวทีโขนศิลปาชีพตอนต่างๆ เช่น หนุมานอมพลับพลาในการแสดงตอนศึกไมยราพ เรือสำเภาหลวงในตอนพิเภกสวามิภักดิ์ มาจัดแสดงด้วยเทคนิคทัยสมัย เปิดให้ผู้สนใจชมแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา