ดีลการค้า สหรัฐ-จีนเฟส1 ‘ไม่ใช่นิพพาน’
ใกล้เข้ามาทุกทีกับข้อตกลงการค้าเฟส 1 ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ จะลงนามกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ทุกคนต่างจับตามองด้วยความหวังว่าจะบรรเทาผลกระทบของสงครามการค้าได้บ้าง แต่ข้อตกลงฉบับนี้อาจไม่ใช่ยาวิเศษเสมอไป
ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า ตอนนี้ทั้งสหรัฐและจีนกำลังมองหาสถานที่ลงนาม พัฒนาการดังกล่าวหนุนให้ตลาดเงินคึกคัก แต่ ลาร์รี ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวในรายการ “สตรีทไซน์สเอเชีย” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ข้อตกลงการค้าเฟส 1 ที่สหรัฐและจีนเตรียมจะลงนามกันนั้น ไม่ได้แก้ไขทุกปัญหาที่กำลังรุมเร้าเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้
“ผมสนับสนุนเต็มที่ แต่อาจจะเป็นการหลอกตัวเองไปนิด ถ้าเราเชื่อว่าพิธีลงนามครั้งเดียวคือการบรรลุนิพพานทางเศรษฐกิจ ยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่า ลึกกว่า กำลังฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว”
เศรษฐกิจโลกชลอตัวลงตั้งแต่ปีก่อน พร้อมๆ กับปฐมบทสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือน ต.ค. คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกโต 3% ลดลงจาก 3.6% ในปี 2561 และ 3.8% ในปี 2560
ซัมเมอร์สกล่าวต่อว่า แม้สหรัฐและจีนลงนามข้อตกลงบางส่วนกันได้ตามแผน “ความตึงเครียดและไม่แน่นอนระหว่างสองประเทศยังเหลืออยู่อีกมากมาย ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก”
นักวิเคราะห์และผู้บริหารอีกหลายรายมีความเห็นไปในทางเดียวกับซัมเมอร์ส ระบุว่า ความกังวลที่มีมานานเรื่องจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแก้ไขได้
นอกเหนือจากความไม่แน่นอนในด้านการค้าแล้ว ซัมเมอร์สยังระบุถึงความตึงเครียดทางการเงินในจีน และความกังวลในยุโรป ล้วนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงในตอนนี้
อดีตขุนคลังขยายความว่าในไม่กี่ปีข้างหน้าการที่เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่งผลให้จีนมีส่วนสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าที่เคยทำ
ปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มนี้คือ ประชากรสูงอายุจีนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายปีที่ผ่านมาจีนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัวช้าลง ที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่า ช่วยให้จีนเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
“ผมคิดว่าในทศวรรษหน้า จีนจะสร้างปาฏิหาริย์ได้น้อยกว่าเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมจะประหลาดใจมากถ้าจีนยังเป็นตัวสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า เหมือนอย่างที่เคยทำมาเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน”
ทั้งนี้ ซัมเมอร์สเคยเป็นรัฐมนตรีคลังสมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจในรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
จากความเห็นของอดีตรัฐมนตรีคลัง สู่ข้อมูลล่าสุดอันเป็นรูปธรรม ตัวเลข 9 เดือนแรกชี้ชัด สหรัฐ-จีนเสียหายหลายหมื่นล้านดอลลาร์จากสงครามการค้า
ซีเอ็นบีซีรายงานด้วยว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐถ้ามองในแง่การเมือง มีทั้งผู้แพ้ผู้ชนะ แต่ถ้าดูตัวเลขล่าสุดเศรษฐกิจสองประเทศต่างเสียหายเพิ่มเป็นหลักหลายหมื่นล้านดอลลาร์ นี่คือเหตุผลว่าทำไมทั้งสองฝ่ายจึงต้องการทำดีล
ในทางการเมือง ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจโวได้ว่าจีนเสียหายมากกว่าสหรัฐในแง่ของดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปีก่อน ข้อมูลล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (5 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ชี้ว่า สหรัฐนำเข้าจากจีนลดลงมากถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งออกลดลงแค่ 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์
แต่สหรัฐส่งออกไปจีนน้อยกว่านำเข้ามาก ดังนั้นแม้ส่งออกลดลงน้อยแต่ก็เป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่า
ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐส่งออกไปจีนลดลง 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มากกว่าการนำเข้าของจีนที่ลดลง 13.5%
ค่าเฉลี่ยเหล่านี้ปิดบังความจริงอันน่าเจ็บปวดของอุตสาหกรรมแต่ละภาคส่วน หากเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2560 ก่อนที่เทรดวอร์จะเริ่มต้นขึ้น การส่งออกแร่ธาตุและสินแร่ไปยังจีนดิ่งลง 65% ในปีนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์ป่าไม้ลดลง 39% ปศุสัตว์ลดลง 35%
ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรสหรัฐร่วงลง 2 พันล้านดอลลาร์ อุปกรณ์ขนส่งลดลง 5.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาโบอิง 737 แม็กซ์ และน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจยืดเยื้อร้าวลึกสำหรับสหรัฐ ถ้าจีนหันไปใช้เครื่องบินเจ้าอื่น
แต่ข่าวดีคืออุตสาหกรรมบางตัวที่เสียหายหนัก อาจฟื้นตัวแรงถ้าผ่อนคลายเรื่องภาษี และสัมพันธ์การค้าอบอุ่น อุตสาหกรรมสหรัฐส่วนหนึ่งอาจได้ตลาดใหม่
กระนั้นอันตรายก็มีอยู่ ถ้าลูกค้าจีนได้ซัพพลายเออร์ใหม่แล้ว เท่ากับว่าผู้ส่งออกสหรัฐเสียหายถาวร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-หรัฐเล็งเลิกเก็บภาษีจีนหนุนลงนามการค้าเดือนนี้
-อังค์ถัดชี้สหรัฐ-จีนแบกภาระต้นทุนภาษีจากสงครามการค้า