หนุน ‘คนนอก’ คุมทีมแก้รธน. ‘สุชาติ’ ชี้ ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ เหมาะสม
“สุชาติ” ปัดบิ๊กส.คุมทีมแก้รัฐธรรมนูญ หนุนคนนอกนั่ง ประธานกมธ.แก้รธน. ชี้ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” เหมาะสม ด้าน พปชร. ปัดดึงเกมยื้อ เชื่อ ส.ว.ไม่ร่วมไร้ปัญหา ขณะที่วิปฝ่ายค้านนัดถก 12 พ.ย.นี้ หารือปมเลื่อนวาระตั้งกมธ. “สุทิน” ยันไม่ขัดข้องปชป.ดัน“อภิสิทธิ์”
ความเคลื่อนไหวการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งล่าสุดมีกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เตรียมเสนอบุคคลชื่อย่อ “ส.” เป็นประธาน
วานนี้ (10พ.ย.) นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกระแสที่ได้ตอบรับการเป็นประธานโดยยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการตอบรับหรือปฏิเสธใดๆ คาดว่าข่าวที่ออกมาคงเป็นการหารือของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นทางการ และมีการพูดถึงชื่อของตนตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ต้องยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า เหมือนลดศักดิ์ศรีจากรองประธานสภาฯ มาเป็นประธาน กมธ. อย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด แต่ด้วยภาระหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาฯ ก็มีค่อนข้างมากอยู่แล้ว ทั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ ที่ต้องควบคุมและศึกษาวาระประชุมโดยตลอด แล้วยังมีภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายจาก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ที่ให้ตนกำกับดูแลในเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอที) ของสภาฯ ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการส่วนต่างๆ ของสัปปายะสภาสถาน หรืออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์โดยเร็ว และยังมีในส่วนของห้องประชุมสุริยันที่เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ตามนโยบายของประธานสภาฯ ด้วย
“ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการทาบทามจากทางพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ได้แจ้งกลับไปถึงภาระหน้าที่ของรองประธานสภาฯ ที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้วในขณะนี้ หากจะไปทำหน้าที่ประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมาก อาจทำได้ไม่เต็มที่ จึงเห็นว่ายังมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมอีกมาก” นายสุชาติ ระบุ
- ชี้ “สุเทพ-อภิสิทธิ์” เหมาะสม
ส่วนกระแสข่าวว่า พปชร.เตรียมเสนอบุคคลชื่อย่อ “ส.” เข้ามาเป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ว่า คงไม่ได้หมายถึงตน เพราะชื่อของตนเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ผู้ที่จะเข้ามาเป็นประธานกมธ.ชุดนี้ควรจะเป็นคนนอก เพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องของข้อครหาความมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือใบสั่งทางการเมือง
ดังนั้น รายชื่อที่ทางพรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นมาอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ก็ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ล่าสุดออกมาร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับการตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก็มีความเหมาะสมเช่นกัน
- พปชร.ปัดดึงเกมตั้งปธ.กมธ.
ด้าน นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา พปชร.ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์การตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางและวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่ลงตัว อาจเป็นการดึงเวลาของรัฐบาลว่า การตั้งกมธ.ศึกษาเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นของการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่รู้ว่าจะแก้หรือไม่ จึงไม่น่าจะถูกนำมาเป็นประเด็นอะไร
ส่วนกรณีที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ปฏิเสธร่วมเป็นกมธ.ในโควตาของรัฐบาลที่ผ่านมาวิปรัฐบาลรวมไปถึงวิปส.ว.ก็มีการพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาตลอดดังนั้นการที่จะไม่มีส.ว.ไปร่วมไม่น่าจะเป็นปัญหา
“เชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้ดึงเกมกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของสภาฯที่ต้องมาคุยมาศึกษาว่าจะแก้ไขหรือไม่อย่างไร ในเมื่อคนร่างไม่ใช่ คนใช้ไม่ได้ร่างแล้ว อาจเป็นภาระให้กับคนอื่นก็ต้องมาตั้งกมธ.ศึกษากัน ไม่ใช่ปัญหาอะไร” นายสมศักดิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ารายชื่อบุคคลของพรรคพปชร.ที่ปรากฏว่าจะมานั่งเป็นประธานกมธ.ศึกษาฯอาจสู้นายอภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะไม่ได้ มองว่าอาจเป็นลีลาเฉพาะตัวของนายเทพไท ไม่ใช่เรื่องของพรรค การแสดงความเห็นเช่นนั้นอาจเพราะอยู่ใกล้ชิดกับนายอภิสิทธิ์ ก็ต้องการสนับสนุนให้มาทำหน้าที่ แต่ตำแหน่งประธาน ต้องดูความเหมาะสมและกติกาต่างๆด้วย
- “สุเทพ” ยันรธน.ไม่บกพร่อง
ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย เปิดเผยว่ากรณีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ นั่งเป็นประธานกมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สิ่งสำคัญคือเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่จะพยายามแก้ไขซึ่งก่อนที่จะไปถึงประเด็นนั้นส่วนตัวมีจุดยืนที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เห็นข้อบกพร่องของตัวบุคคลมากกว่า
ส่วนคุณสมบัติของการเป็นประธานกมธ.ตนเห็นว่าควรจะเป็นบุคคลที่เป็นกลาง ไม่ใช่คนที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นหรือสนับสนุนมาตั้งแต่แรก ส่วนประเด็นที่มองว่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งเชื่อว่าไม่น่าเป็นประเด็นความขัดแย้ง ประเทศไทยเดินหน้าและก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งมาแล้ว ส่วนตัวเป็นคนมองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าประเทศไทยจะร่วมกันผนึกกำลังทำให้ประเทศพัฒนาก้าวต่อไปได้
- วิปฝ่ายค้านจ่อถก 12 พ.ย. นี้
ส่วนความเคลื่อนไหวฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การประชุมวิปฝ่ายค้านในวันที่ 12 พ.ย.จะมีการพิจารณาว่า จะมีการเลื่อนญัตติด่วนเรื่องการขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกมธ.พิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี2560 ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติการขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา44 หรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเลื่อน เพราะญัตติด่วนทั้ง 2 เรื่องอยู่ติดกันอยู่แล้ว จะเลื่อนขึ้นมาหรือไม่ก็มีผลไม่ต่างกันเท่าไหร่
นอกจากนี้ วิปฝ่ายค้านจะพิจารณาหลักการด้วยว่า ประธานกกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นควรเป็นของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือคนนอก อย่างไรก็ตาม
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหา ไม่ว่าโควตาประธานกมธ.จะมาจากฝ่ายใด หรือหากเป็นนายอภิสิทธิ์จริงๆ เราก็ไม่ขัดข้อง
เช่นเดียวกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่าในส่วนของโควตากมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในพรรคกำลังศึกษากันอยู่ โดยพรรคจะวางตัว "นายปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรค เป็นตัวหลักแน่นอน
“แต่สำหรับผมขณะนี้มีภารกิจในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ดังนั้นการทำงานจากตอนนี้ถึงสิ้นปีคงจะมีเวลาออกไปทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยลง เพราะเวลาส่วนใหญ่จะอยู่ในกมธ.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ” นายธนาธร กล่าว
- “นพดล” ชี้ 3 ความท้าทาย แก้รธน.
นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญจึงมีความท้าทายอยู่ 3 เรื่อง คือ
1.ทำอย่างไรจะมีการเสียสละความได้เปรียบทางการเมืองของตน เพื่อทำให้ประเทศไทยได้เปรียบ และมีกติกาที่เอื้อให้เกิดการเมืองสุจริตและมีประสิทธิภาพ การเลือกตั้งที่เป็นธรรมและมีความหมายทำให้การเข้าสู่อำนาจบริหารและนิติบัญญัติยึดโยงกับประชาชน
2.ทำอย่างไรจะมีกระบวนการรับฟังความต้องการของประชาชนว่าต้องการเห็นการแก้ไขในเรื่องใดบ้าง
และ 3.ทำอย่างไรจะไม่กล่าวหาใส่ร้ายกันในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากมนุษย์สามารถใช้เหตุผลและแลกเปลี่ยนความเห็น โดยใช้ปัญญาและลดการกล่าวหาได้ เพราะท้ายที่สุดการแก้จะสำเร็จหรือไม่ต้องใช้เสียงจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ในรัฐสภาอันทรงเกียรติ
“ส่วนตัวเห็นว่าความจริงใจและความพร้อมที่จะร่วมทำกติกาให้เป็นธรรม และบรรลุเป้าประสงค์ข้างต้นสำคัญกว่าตัวผู้จะมานั่งเป็นประธาน กมธ.พี่น้องประชาชนคงจะติดตามท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองต่อไปว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้นบรรจุในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เป็นเพียงวาทกรรมหรือเป็นวาระที่จะทำ และจะเปลี่ยนวาระในกระดาษเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่” นายนพดล กล่าว