รฟม.ถอยรื้อรถไฟฟ้า 'สีส้ม' คลังหวั่นกระทบงบประมาณ
รฟม.เผยจบปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังกระทรวงการคลังเคาะแนวทาง "พีพีพี เน็ตคอส์ต" หนึ่งสัญญาเหมาะสม เหตุรัฐมีความจำเป็นต้องนำงบไปลงทุนส่วนอื่น เชื่อเปิดให้เอกชนร่วมทุนจะเป็นแนวทางลดภาระภาครัฐ เร่งชงเข้า ครม.พิจารณา พ.ย.นี้
ส่วนกรณีการพิจารณาทบทวนรูปแบบการลงทุนงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก จากเดิมที่เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน มาเป็นรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองนั้น สืบเนื่องจากกระทรวงการคลังมีข้อสังเกตว่า การให้รัฐลงทุนงานโยธาจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่ากรณีให้เอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากเอกชนมีต้นทุนการชำระหนี้ที่สูงกว่ารัฐ
นอกจากนี้ การที่รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง จะทำให้ รฟม.พิจารณาแบ่งงานโยธาออกเป็นหลายสัญญา โดยมีมูลค่าแต่ละสัญญาไม่สูงมากนัก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และสามารถเร่งรัดการก่อสร้างงานโยธาได้อย่างมีประสิทธิภาพและแล้วเสร็จได้ตามกำหนด
ทั้งนี้ การที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนรูปแบบการให้รัฐลงทุนงานโยธาเองอย่างรอบคอบในทุกมิติ โดยคำนึงถึงประเด็นการก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะของประเทศในทันทีที่มีการเริ่มก่อสร้าง ความเสี่ยง ที่จะเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่าง รฟม. ผู้ก่อสร้างงานโยธา และผู้รับสัมปทานที่เป็นผู้ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนความเสี่ยงในด้านการเงินหรือต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น
- 'คลัง' ยืนยันใช้รูปแบบพีพีพี
นอกจากนี้ จากการหารือในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปแล้วว่า การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ควรใช้รูปแบบพีพีพี เน็ตคอส์ต จำนวน 1 สัญญาเช่นเดิม เนื่องจากกระทรวงการคลังได้จัดทำคำชี้แจงเพิ่มเติมไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วว่า แม้การกู้เงินมาลงทุนงานโยธาของเอกชน จะมีดอกเบี้ยสูงกว่าภาครัฐ แต่ก็ควรเปิดให้เอกชนร่วมทุนงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเช่นเดิม เพราะภาครัฐจำเป็นต้องนำเงินไปพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคเกษตร ภาคการศึกษา ที่เอกชนไม่สนใจร่วมลงทุนด้วย
ส่งผลให้การพัฒนารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ที่ศึกษาไว้ในรูปแบบพีพีพีรวมงานโยธาและงานบริหารการเดินรถเป็น 1 สัญญา จึงเหมาะสมแล้ว เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวได้คำนึงถึงการเงินการคลังของประเทศเป็นหลัก เพราะนโยบายการลงทุนแบบพีพีพี เป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลต้องนำเงินไปลงทุนในอีกหลายภาคส่วน ขณะเดียวกันถ้าภาครัฐต้องกู้เงินมาลงทุน ก็จะทำให้เพดานหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น
- คาดชง ครม.ภายในเดือนนี้
"ตอนนี้ รฟม.ชี้แจงข้อมูลครบทุกด้านแล้ว ก็มีความชัดเจนแล้วว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นหน่วยบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศยืนยันว่า รูปแบบที่เสนอไว้เดิมที่ผ่านคณะกรรมการพีพีพีไปแล้ว เป็นรูปแบบที่เหมาะสม หลังจากนี้จึงคาดว่าข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดน่าจะส่งกลับไปที่ ครม.ได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ หรือก่อนสิ้นปีนี้ โดยทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้า ครม."
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการที่อยู่ในแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคม (แอคชั่นแพลน) ปี 2561 ถือเป็นโครงการที่ค้างท่อรอการอนุมัติจากรัฐบาลก่อน โดย รฟม.ศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมเป็นพีพีพี รวมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร และระบบเดินรถไฟฟ้าทั้งเส้นทาง ช่วงมีนบุรี–บางขุนนนท์ มูลค่ารวม 122,041 ล้านบาท โดย รฟม.เตรียมเสนอ ครม.ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลจึงต้องมาพิจารณาใหม่
- หวั่นกระทบภาระการคลัง
ทั้งนี้ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจที่ผ่านมา สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตในที่ประชุมว่าการให้เอกชนลงทุนงานโยธาส่วนตะวันตกและรัฐทยอยชำระคืนให้เอกชนเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี พร้อมดอกเบี้ยตามที่ รฟม.เสนอจะทำให้รัฐมีภาระทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย 40,000 ล้านบาท และตามหลักการประมาณการผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ ได้มีการพิจารณารวมอัตราเงินเฟ้อแล้ว ดังนั้น หากรัฐบาลจำเป็นต้องชำระคืนค่าดอกเบี้ยจากโครงการก่อสร้างงานโยธาให้เอกชนควรอ้างอิงจากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี บวก 1 และการกำหนดกรอบวงเงินที่รัฐจะชำระคืนไม่ควรเผื่อเหลือเผื่อขาดด้วย
รวมทั้งขอให้ รฟม.ทำข้อมูลค่าก่อสร้างงานโยธาของโครงการจำแนกตามลักษณะกิจกรรม เช่น งานเส้นทาง งานก่อสร้างสถานี เพื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอื่นและเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ครม.
นอกจากนี้ มีการอภิปรายในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจถึงการให้เอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการส่วนตะวันตก และรัฐทยอยชำระคืนให้เอกชนหลังจากเปิดเดินรถทั้งเส้นแล้วและแบ่งจ่ายเป็นรายปีกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งมีความต่างจากการก่อสร้างงานโยธาสายตะวันออก และการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้รัฐมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐที่เน้นส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม