โชว์เคส 23 สตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหารจาก สเปซเอฟ บิ๊กโปรแกรมปั้นฟู้ดเทคโลกแห่งแรกของไทย
เอ็นไอเอร่วมกับไทยยูเนี่ยนและคณะวิทย์มหิดล ร่วมพลิกโฉมอุตฯอาหารตอบโจทย์ "ครัวโลก" เปิดตัว 23 สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ สเปซ-เอฟ (SPACE-F) บิ๊กโปรแกรมปั้นฟู้ดเทคระดับโลกแห่งแรกของไทย
เอ็นไอเอ พัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย มีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 23% ของจีดีพี ทั้งยังมีการส่งออกอาหารมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนธุรกิจอาหาร ในขณะเดียวกัน ก็ต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน ทั้งในการผลิต การบริการ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการเหลือทิ้งของอาหาร
“สเปซ-เอฟ” เป็นก้าวที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมของประเทศในการเตรียมพร้อมรับอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งพัฒนาฟู้ดเทคสตาร์ทอัพใน 9 สาขา ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต วัตถุดิบและส่วนผสมอาหารใหม่ๆ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ประกอบไปด้วยโปรแกรมสนับสนุนจาก ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และการศึกษา โดยในส่วนของเอ็นไอเอให้การสนับสนุนตั้งแต่การดึงหน่วยงานร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมสนับสนุนการระดมทุน ไปจนถึงการช่วยอำนวยความสะดวกการออกสมาร์ทวีซ่า ต่อเนื่องไปถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศทั้งภาคธุรกิจ และสตาร์ทอัพด้วยกันเอง
ทั้งนี้ สตาร์ทอัพด้านอาหารที่ใช้ไบโอเทคโนโลยีมีจำนวนน้อย ซึ่งในประเทศไทยมีประมาณ 10 ราย อีกทั้งการพึ่งพิงการผลิตเพียงอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืนอีกต่อไป เนื่องจากทรัพยากรกำลังจะเริ่มน้อยลง ดังนั้น ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ จึงเป็นคำตอบในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหาร เพราะล้วนเข้าใจปัญหาของระบบซัพพลายเชนในธุรกิจอาหารอย่างถ่องแท้ ทั้งยังมีแผนทางธุรกิจที่สามารถเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
เตรียม 30 ล้านดอลล์ร่วมทุนดีพเทค
ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก และได้ส่งเสริมด้านนวัตกรรมมาเป็นเวลากว่า 6 ปี อีกทั้งร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยกับมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งทั่วโลก ครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญโดยการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมอาหารมาสู่ภาคธุรกิจ เป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ความเข้าใจไปปรับใช้
นอกจากศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนแห่งแรก ณ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ที่เปิดให้สตาร์ทอัพในโครงการเข้ามาใช้เพื่อทดลองและวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยมืออาชีพแล้ว ก็ยังมีบุคลากรในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ และการเงิน เข้าแนะนำแนวทางพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้จากองค์กรต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า Incubator และ Accelerator ทั้ง 23 ทีม จะสามารถต่อยอดทั้งด้านนวัตกรรมและประสบความสำเร็จด้านธุรกิจไปด้วยกัน
ขณะเดียวกันหากดีพเทคสตาร์ทอัพรายใดที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจเหมาะกับการต่อยอดเชิงธุรกิจของบริษัท ก็จะมีการเจรจาสู่ขั้นตอนการลงทุนในเชิงพาณิชย์ต่อไป ผ่าน corporate capital มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งการลงทุนในสเปซ-เอฟยังเปิดกว้างให้ VC ทั่วโลกสามารถเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรได้เช่นกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดโซลูชั่นใหม่ๆ และเติบโตก้าวเป็นผู้นำในตลาดเป้าหมายได้อย่างเต็มภาคภูมิ
Quali fresh หาวันหมดอายุอาหาร
ปิติชัย ปิติมณียากุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทูแคนส์ จำกัด หนึ่งใน 12 ทีมสตาร์ทอัพ กล่าวถึงผลงานควบคุมอุณหภูมิตู้แช่สินค้า “Quali fresh” ว่า เกิดจากความร่วมมือกับ DEVHUB design consultancy ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดีไซน์ฟังก์ชั่นระบบต่างๆ โดยต่อยอดมาจากโครงการ Save the kids ระบบตรวจติดตามเด็กถูกลืมในรถโรงเรียน สู่ระบบเซ็นเซอร์ บล็อกเชนควบคุมอุณหภูมิสินค้า “Quali fresh”
ระบบจะรวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดต่างๆ ที่ติดตั้งในตู้แช่ แล้วนำเอไอมาวิเคราะห์ จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งเข้าสู่บล็อกเชนเพื่อที่จะตรวจสอบย้อนกลับได้ ประกอบด้วย อุณหภูมิ ความชื้น การขนส่ง การเก็บรักษา แล้วนำมาสร้างเส้นทางของอาหารจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภทพรีเมี่ยม เช่น ผลไม้ประเภทเบอร์รี่ สัตว์ทะเลที่มีมูลค่าสูง นับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ไอโอทีและอุตสาหกรรม 4.0 ในซัพพลายเชนของอาหาร ให้สามารถสร้างมาตรฐานใหม่ของการหาวันหมดอายุ และวิธีการที่จะลดความสูญเสียของอาหาร นอกจากนั้นแล้วสามารถที่จะบอกได้ว่าเกิดปัญหาในส่วนไหนในซัพพลายเชน และผู้บริโภคสามารถรู้ว่าอาหารที่ซื้อไปมีคุณภาพดีหรือไม่
“ทูแคนส์ เป็นผู้ให้บริการด้านไอทีอินโนเวชั่น จึงรู้ว่าเทคโนโลยีต้องทำอย่างไร ดีไซน์ฟังก์ชั่นอย่างไร แต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ฉะนั้น การเข้าร่วมโครงการสเปซ-เอฟ จึงเป็นการส่งเสริมในด้านต่างๆ ทั้งแหล่งความรู้จากสถาบันการศึกษา ห้องแล็บ การได้เชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์สตาร์ทอัพจากทั่วโลก อีกทั้งโอกาสในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ และการลงทุนจากนักลงทุน”
รศ.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ เป็นแหล่งความรู้รวมทั้งพร้อมด้วยเครื่องมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ได้นำมาเสริมกำลังเหล่าสตาร์ทอัพ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุน หากงานวิจัยนั้นๆ สามารถตอบโจทย์ด้านสถาบันการศึกษา ตลอดจนเครือข่ายที่จำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพ