ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ...จุดจบ หรือ จุดเริ่มต้น?!

11 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติคัดเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่ หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

แม้ว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จะเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 234 / 2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่ถึง 1 ปี ซึ่งมีการท้วงติงและคัดค้านจากหลายฝ่าย

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ที่ท้วงติง จนถึงออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยจากฝ่ายการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นที่น่าสนใจว่า การคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท.ครั้งนี้ เกิดปรากฏการณ์ประชาชนกว่า 50,000 คน ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านความพยายามของฝ่ายการเมืองในการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทย

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

โดยมีส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ความว่า “...การประชุมของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มักมีความลับสำคัญของชาติ นอกเหนือจากความเชื่อมโยงในการกำหนดนโยบายทางการเงิน ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์มหาศาลให้กับกลุ่มทุนได้

ดังนั้น บุคคลที่จะไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการและคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงต้องมือสะอาด ไม่มีประวัติด่างพร้อย และไม่ควรมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่มธุรกิจและฝ่ายการเมือง มิฉะนั้น จะเกิดกรณีแสวงหาประโยชน์มหาศาลจากนโยบายที่เป็นความลับของธนาคารแห่งประเทศไทย บนหายนะของประเทศ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต..”

นอกจากความตื่นตัวของคนทุกชนชั้นเกี่ยวกับการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. วันถัดมา 12 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานข่าว “สรรพสามิตเตรียมปลดล็อกรายย่อยขอใบอนุญาตผลิตสุรา” โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า

กระทรวงการคลังและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เห็นพ้องในการสนับสนุนการลดข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้นำผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น มาแปรรูปเป็นสุราพื้นบ้าน-สุราชุมชน

ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ยังเป็นการพัฒนาสุราชุมชนที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ให้เป็น Soft Power ของไทย

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ...จุดจบ หรือ จุดเริ่มต้น?!

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของกระทรวงการคลังและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เรื่องลดข้อจำกัดเพื่อให้มีการผลิตสุราได้ทั่วไป และความเคลื่อนไหวของสังคมต่อการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนอร์เวย์เมื่อประมาณ 200 ปี ที่ผ่านมา

ในช่วงศตวรรษที่สิบแปด หลักการเศรษฐกิจแบบเสรีเฟื่องฟู รัฐบาลนอร์เวย์ได้ยกเลิกกฎหมายที่ควบคุมการผลิตและจำหน่ายสุรา โดยอ้างว่า การผลิตสุราจะทำให้เกษตรกรมีกินมีใช้ จากการใช้ผลผลิตทางการเกษตรในกระบวนการผลิต รวมถึงเป็นการพัฒนาสุราของนอร์เวย์ให้มีชื่อเสียง ประเทศเกิดความมั่งคั่งในภาพรวม

ในปี 1816 เจ้าของที่ดินและผู้ใช้ที่ดินในชนบทได้รับสิทธิในการกลั่นสุรา เช่นเดียวกับประชาชนในเขตเมืองที่สามารถกลั่นสุราได้ หากเครื่องกลั่นมีขนาดไม่ต่ำกว่า 200 ลิตร ส่งผลให้เกษตรกรและคนในเมืองทุกหัวระแหงเปิดโรงกลั่นสุรา จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของประเทศ

ในขณะเดียวกัน การดื่มสุราของชาวนอร์เวย์ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนทำให้ปัญหาอาชญากรรม ความยากจน การทารุณกรรมสตรีและเด็ก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หายนะครั้งนี้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายภาคส่วน

ระยะแรก ปลายทศวรรษ 1830 มีการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมการลดหรืองดเว้นการดื่มสุรา (temperance movement) ในกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง

จากนั้น เมื่อประชาชนจำนวนมากตระหนักในหายนะที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล การรวมกลุ่มกันต่อต้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทก็เกิดขึ้นในวงกว้าง มีการเคลื่อนไหวของประชาชน นักคิดนักเขียน สื่อมวลชน ผ่านกระบวนการทางการเมืองและวัฒนธรรม จนเป็นกิจกรรมประจำวันของผู้คน  

การต่อต้านซึ่งเกิดจากความตระหนักรู้ของประชาชน รวมถึงบทบาทและจุดยืนที่แน่วแน่ของศาสนา เป็นรากฐานในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดของประเทศนอร์เวย์ นอกจากจะมีการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ปัจจุบัน Vinmonopolet เป็นร้านค้าของรัฐเพียงรายเดียวที่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูง ได้แก่ สุรา ไวน์ และเบียร์บางประเภท การให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการจำหน่าย นอกจากเป็นไปเพื่อจำกัดจำนวนร้านค้า และระยะเวลาการจัดจำหน่าย ก็ยังเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่มีการจูงใจประชาชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังเช่นการดำเนินธุรกิจของเอกชน

ปัจจุบัน Vinmonopolet ไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันอาทิตย์ วันเสาร์เปิดถึงสี่โมงเย็น ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ ปิดเวลาหกโมงเย็น

แม้ตกอยู่ท่ามกลางมหันตภัยซึ่งเกิดจากนโยบายหลงผิดของรัฐบาล ที่อนุญาตให้ประชาชนผลิตสุรา แต่ความตื่นรู้ของชาวนอร์เวย์เมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว ซึ่งทำกิจกรรมต่อต้านอย่างต่อเนื่อง โดยใช้สติปัญญาเป็นธงนำ เป็นจุดเปลี่ยนทำให้นอร์เวย์หลุดพ้นจากวงจรที่เสื่อมต่ำ กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีสังคมที่สงบสุขในวันนี้

กระแสการตื่นรู้และการเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนในทางที่ถูกที่ควรของคนไทย ในกรณีการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ในการที่คนไทยจะได้ร่วมแรงร่วมใจเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศให้เจริญวัฒนาถาวร ดังเช่นนอร์เวย์ที่ผ่านจุดวิกฤติ จนกลายเป็นประเทศที่มีความเจริญอันดับ 1 ใน 5 ของโลกเกือบทุกมิติ ในปัจจุบัน!.