ถก พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯใหม่ ห่วง 4 ประเด็นเบี้ยวจากเดิม

ถก พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯใหม่ ห่วง 4 ประเด็นเบี้ยวจากเดิม

เวทีประชุมวิชาการสุราครั้งที่ 13 ถก พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห่วงขยายเวลาจำหน่าย-การควบคุมการโฆษณา-ผลประโยชน์ทับซ้อน ย้ำคนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจดี

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ : ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็นสุรากับเรื่องสุขภาวะของคนไทยก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจะสะท้อนถึงความหลากหลายของความคิดเห็นในสังคม ทั้งซึ่งการปรับเพิ่มกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และการผ่อนปรนกฎหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่ การให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนจึงควรเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายสาธารณะ เมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจก็จะเติบโตตามมาเองในระยะยาว

“มีหลายประเด็นที่ต้องแสดงข้อห่วงใย โดยเฉพาะเรื่องการขยายเวลาจำหน่าย และการควบคุมการโฆษณาออนไลน์ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทุกการตัดสินใจมาจากหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง หรือแม้แต่การมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมสุราเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นการให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้ามาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ถก พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯใหม่ ห่วง 4 ประเด็นเบี้ยวจากเดิม
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องแก้ไข 1.การโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ข้อจำกัดเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด  อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
3.การออกใบอนุญาตขายสุราเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีนโยบายจำกัดการออกใบอนุญาต ทำให้ไม่สามารถบรรลุเจตนารมณ์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ

4.เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชน ทั้งการกำหนดหน้าที่ของผู้ขาย ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค 5.ยกเลิกบทลงโทษอาญาในบางกรณี โดยบัญญัติเป็นโทษปรับทางปกครอง หรือการทำงานบริการสังคม หรือเพื่อสาธารณประโยชน์แทน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ และอาชญากรรม มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ มีอิทธิพลต่อการผลิต การตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมสุราอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการสั่งซื้อและจัดส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การเติบโตและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ และแนวคิดที่เปลี่ยนไปของกลุ่มคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่า การมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สามารถควบคุมเรื่องเหล่านี้ได้ แม้ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่ถือเป็นผลประโยชน์สาธารณะ

กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเจตนารมณ์เพื่อลดปริมาณการดื่มสุราของประชากรโดยรวม และลดผลกระทบทางลบต่อสังคม ผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่
1.การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพ
2.การควบคุมการโฆษณาและการตลาด
3.การควบคุมด้านราคา
4.การคัดกรองและบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากการดื่มสุรา 5.การป้องกันการดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีหลักฐานวิชาการทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงและคุ้มทุน