วัยรุ่นไทยเบาหวานพุ่ง 27%
วันเบาหวานโลก 14 พ.ย. พบวัยรุ่นไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 27% แพทย์ผู้ปกครองต้องร่วมกันคุมหวานตั้งแต่เด็ก ขณะที่เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสระบุรี ทำงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ สร้าง “โรงเรียนอ่อนหวาน” ทั่วจังหวัด ลดกินหวานเหลือ 8 ช้อนชาต่อวัน
จากการศึกษาที่คลินิกต่อมไร้ท่อเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า สัดส่วนของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (ผู้เป็นส่วนใหญ่มักอ้วนและมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน) ในเด็กวัยรุ่น (อายุ 10-19 ปี) เพิ่มจากร้อยละ 13 ในระหว่างปี พ.ศ. 2545-2550 เป็นร้อยละ 27 ระหว่างปี พ.ศ.2551-25562 สัมพันธ์กับความชุกของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ทั่วโลกมีวัยรุ่นเป็นเบาหวานแล้วถึง 63 ล้านคน
รศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง กรรมการบริหารสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าไม่อยากให้เป็นเบาหวานตั้งแต่วัยรุ่น ต้องไม่ปล่อยให้เด็กๆ มีน้ำหนักเกิน ซึ่งบทบาทของโรงเรียนนั้นสำคัญมาก ต้องมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ต้องมีการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมทางกายให้มากๆ ต้องจำกัดการเข้าถึงขนม น้ำอัดลม อาหารขบเคี้ยวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
”เบาหวานถ้าเป็นแล้ว สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ถ้าละเลยไม่ปฏิบัติ เบาหวานก็จะกลับมาอีก” รศ.พญ.ธนินี กล่าวและว่า เบาหวานจะอยู่กับบุคคลนั้นไปทั้งชีวิต ดังนั้นต้องป้องกันไม่ให้สมาชิกในครอบครัว หรือคนในชุมชนเป็นโรคเบาหวาน ควรหาทางยับยั้งไม่ให้เป็นคน “ติดหวาน” ตั้งแต่เด็ก รู้จักเลือกซื้อเลือกกิน ซึ่งบทบาทนี้โรงเรียนหลายแห่งได้ทำสำเร็จมาแล้ว
ด้าน ทพญ.สุวรรณา สมถวิล หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สระบุรี เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯได้ทำงานกับทุกๆ ภาคส่วนเพื่อลดปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเฉพาะโรงเรียนในจังหวัดสระบุรี 140 แห่งจากทั้งหมดกว่า 200 แห่งเข้าร่วมเป็นโรงเรียนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ซึ่งทุกๆ แห่งทำได้ตามมาตรฐานของเครือข่ายไม่กินหวาน
นั่นคือในโรงเรียนต้องไม่จำหน่ายน้ำอัดลมทุกชนิด ไม่มีเครื่องปรุงใดๆ บนโต๊ะอาหาร ไม่มีเครื่องดื่มที่มีความหวานเกิน 10% ขายในโรงเรียน ไม่มีสื่อโฆษณาขนมขบเคี้ยวหรือน้ำหวานในโรงเรียน และในโรงเรียนต้องมีมุมความรู้ด้านโภชนาการให้กับนักเรียนได้เข้าไปศึกษาด้วย
ผลการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานจังหวัดสระบุรี ทพญ.สุวรรณา บอกว่า จากการสำรวจเมื่อปี 2548 เด็กสระบุรีกินหวานถึง 22 ช้อนชาต่อคนต่อวัน แต่จากการสำรวจในปี 2562 พบว่ากินหวานลดลงเหลือเพียง 8-10 ช้อนชาต่อคนต่อวัน แม้จะยังเกินกว่าปริมาณที่แนะนำคือ 6 ช้อนชาต่อคนต่อวัน แต่ถือว่าลดลงอย่างน่าพอใจมาก
ขณะที่ ดร.พัทธโรจน์ กมลโรจน์ศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิทยา หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมรณรงค์ลดการบริโภคหวานในโรงเรียนกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ทุกกิจกรรมต้องได้รับความเห็นชอบจากเครือข่ายผู้ปกครอง เมื่อผู้ปกครองเห็นด้วย ก็ลงมือทำ อย่างเรื่องโภชนาการในเด็กก็เช่นกัน ทางโรงเรียนจะรณรงค์สร้างการรับรู้ก่อน จากนั้นจะงดน้ำตาลในเครื่องปรุง เพื่อปรับพฤติกรรมการกินของเด็ก
ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิทยา กล่าวด้วยว่า ความรู้ที่นักเรียนได้รับจากโรงเรียน ทั้งการปฏิบัติจริงและกิจกรรมในชั้นเรียนว่าด้วยการบริโภคนั้น จะส่งต่อไปยังครอบครัวด้วย โดยทางโรงเรียนจะย้ำกับนักเรียนเสมอๆ ว่าจะต้องเล่าให้พ่อแม่ พี่น้อง หรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อด้วย เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคให้ยั่งยืนต่อไป