สื่อออนไลน์-ดิจิทัลครองใจผู้ชม 

สื่อออนไลน์-ดิจิทัลครองใจผู้ชม 

ผลสำรวจกสทช.ชี้ข่าวแชร์ในโซเชียลยังทรงอิทธิพล

นายศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทยมีความแตกต่างกันตามกลุ่มอายุ โดยทำการแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเจเนอเรชั่น จี.ไอ. ที่มีอายุตั้งแต่ 76 ปีขึ้นไป, กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มีอายุระหว่าง 57-75 ปี, กลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่มีอายุระหว่าง 42-56 ปี

กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย ที่มีอายุระหว่าง 24-41 ปี และกลุ่มเจเนอเรชั่นแซด ที่มีอายุระหว่าง 23 ปี หรือน้อยกว่า พบว่า กลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ 90.5% นิยมรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหว ส่วนกลุ่มเจเนอเรชั่น จี.ไอ. 48.1% ชอบฟังรายการวิทยุ ถัดมากลุ่มเจเนอเรชั่นแซด 56.9% ชอบฟังผ่านออนไลน์และสตรีมมิ่ง โดยในกลุ่มนี้ 84.4% รับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ขณะที่ กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย 35.2% ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ และ 19.4% นิยมอ่านนิตยสาร

“หากวิเคราะห์ตามประเภทเนื้อหา พบว่า 3 อันดับ เนื้อหาที่ทุกเจเนอเรชันชื่นชอบ ได้แก่ รายการข่าว รองลงมาคือ ละครและซีรีส์ และรายการวาไรตี้ และมักนิยมดูตามผังรายการสด โดยข่าวการเมืองเป็นที่นิยมของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ขณะที่ ข่าวการวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเงิน การธนาคาร เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ ส่วนข่าวบันเทิง, กีฬา, เทคโนโลยี และท่องเที่ยวเป็นที่นิยมของกลุ่มเจเนอเรชั่นแซด” นายศุภัช กล่าว

นางสาววรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประชากรไทยมีแนวโน้มบริโภคสื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งผ่านแพลตฟอร์มโซเชี่ยล มีเดีย หลากหลายรูปแบบอาทิ เฟซบุ๊ค ยูทูป ไลน์ โดยการเข้าถึงจะผ่านอุปกรณ์พกพาที่เคลื่อนที่ได้สะดวก และสามารถเข้าถึงสื่อได้ตลอดเวลา เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแทบเล็ต นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มความต้องการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข่าวสารผ่านการแชร์ทั้งจากบุคคลทั่วไปและนักข่าวบนโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชากรอายุน้อย และเนื่องจากประชากรสูงอายุมีแนวโน้มจะมีสัดส่วนมากขึ้น รัฐจึงยังต้องช่วยให้ประชากรเหล่านี้สามารถเข้าถึงข่าวสารผ่านช่องทางดั้งเดิมได้