กฟผ.เผยโรงไฟฟ้าหงสา หยุดการผลิตชั่วคราว หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
กฟผ.เผย โรงไฟฟ้าหงสา กำลังผลิต 1,878 เมกะวัตต์ในลาว หยุดการผลิตชั่วคราว หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ยันไม่กระทบการใช้ไฟฟ้าในประเทศ เหตุสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซฯทดแทนแล้ว ยันทุกเขื่อนของกฟผ.มีความมั่นคงไม่ได้รับความเสียหาย
นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศลาวนั้น ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหงสา ในลาว ต้องสั่งหยุดเดินเครื่องการผลิตชั่วคราว เบื้องต้น คาดว่า จะหยุดผลิตอย่างน้อย 2 วัน แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทย เนื่องจากสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซฯทดแทนได้ แต่โดยปกติแล้วต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซฯจะมีต้นทุนสูงกว่าถ่านหิน
อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้ตรวจสอบเขื่อนทุกเขื่อนของ กฟผ.ในไทยแล้ว พบว่า ไม่ได้รับผลกระทบ จาก แผ่นดินไหว ในประเทศลาว รวมทั้ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงจ.น่าน ซึ่งได้ทำการตรวจสอบแล้วไม่พบความเสียหายเกิดขึ้น และ เหตุการณ์นี้ไม่มีไฟฟ้าดับ ดังนั้น กฟผ. สามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นที่ใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนได้
ทั้งนี้ วันนี้ (21 พ.ย.2562) เมื่อเวลา 04.03 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่ความลึก 5 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศลาว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เหตุการณ์ส่งผลให้โรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 1 และ 2 หยุดการผลิตฉุกเฉินด้วยสัญญาณ Vibration high ขณะจ่ายโหลดรวม 985 เมกะวัตต์(MW) และโรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 3 ลดการผลิตเหลือ 200 MW เหตุการณ์นี้ไม่มีไฟฟ้าดับ กฟผ. สามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นที่ใช้ก๊าซทดแทน
แต่ต่อมาเวลา 06:51 น. โรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 3 หยุดการผลิตฉุกเฉิน หลังเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มเติม(After shock) ทำให้ขณะนี้ ต้องหยุดการผลิตไฟฟ้าทุกหน่วยของโรงไฟฟ้าหงสาลง
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหงสา เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (BPP) สัดส่วน 40%บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) สัดส่วน 40%และรัฐวิสาหกิจลาวโฮลดิ้ง (LHSE) สัดส่วน 20% เพื่อพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ 1,878 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระยะเวลา 25ปี และขายไฟฟ้าให้ลาว 100 เมกะวัตต์
ซึ่งโรงไฟฟ้าหงสา ตั้งอยู่แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุดของลาวที่เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับทั้งลาวและไทย