ไทม์ไลน์แบน 3 สาร ผลประโยชน์ชาติหรือแค่การเมือง
หลังมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 กำหนด ยกระดับสารเคมี 3 ชนิดให้ใช้มาตรการห้ามใช้ ครอบครองและนำเข้า มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2562 นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอร่างประกาศและเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม
แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนดังกล่าว จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการฯอีกครั้งตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการฯกำหนดวันเรียกประชุม 27 พ.ย. นี้อีกครั้ง นับเป็นการประชุมนัดชี้ขาดถึงข้อถกเถียงถึงการแบน 3 สารหรือไม่
อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ข้อถกเถียงกันกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้แบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเชต อาจรุนแรงจนเป็นชนวนความขัดแย้งของสังคมไทยได้
“ในทัศนะของผม คือ เกษตรกรผู้ผลิตอยู่ได้ ประชาชน ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมถูกกระทบน้อย แต่ถ้ามีเจตนาอื่นแอบแฝง การเจรจาก็เกิดขึ้นได้ยาก ความขัดแย้งก็จะรุนแรงขึ้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาบริหารจัดการ"
การแบนทั้ง 3 สารชนิด นั้นเริ่มจาก ไทยแพน หรือเครือค่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตกคงเกินค่ามาตรฐานในผักและผลไม้ที่นิยมบริโภคของประชาชนทั่วไป
ต่อมาเมื่อ 21 พ.ย. 2560 ไทยแพนได้ แถลงผลการเฝ้าระวังประจำปี พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของ ผักยอดนิยม 5 ชนิด ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด บัวบก ชะอมตำลึงและสายบัว ไม่ระบุอีก 1 ชนิด และผลไม้ 6 ชนิด คือองุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว และ สับปะรด มีสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน
ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ผลการประชุมรวม 5 ครั้งได้กำหนดชนิดของสารที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ ไกลโฟชต พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และให้ยกเลิกการใช้ ภายในเดือน ธ.ค. 2562 ไม่ให้ขึ้นทะเบียน ไม่ให้ ต่อทะเบียน และยุติการนำเข้าสารดังกล่าว ภายในธ.ค. 2561ในส่วนของไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ด้านการเกษตรอย่างเข้มงวดในพื้นที่ประเภทต่าง ๆ เช่น ที่สูง/ที่ต้นน้ำ บริเวณแหล่งน้ำสาธารณะ ในเขตชุมชน
อย่างไรก็ตามการยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนๆ ไม่อาจนำไปบังคับใช้ได้
จากนั้น กรมวิชาการเกษตรนำมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2560 โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และได้ถกเถียงว่าควรจะยกเลิกสารทั้ง3 ชนิดนี้หรือไม่ โดยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา รวม 13 ครั้ง และเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 23 พ.ค. 2561
“กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า การใช้แนวทางจำกัดการใช้ทั้งสามสารแทน ข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ส่วนไกลโฟเชตเป็นไปตามข้อเสนอของ คณะกรรมการขับเคลื่อนที่ให้จำกัดการใช้”
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีมติมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักจัดทำแผนในการ ดำเนินมาตรการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ โดยให้นำเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณา ภายใน 60 วันให้จำกัดการใช้
มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าว ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือถึง อธิบดีกรมโรงงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ระบุว่าจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า พาราควอต ที่ใช้ในการเกษตร เป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตต่อร่างกายของผู้ใช้และผู้ได้รับสารเคมีโดยไม่ตั้งใจ จึงให้ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยให้ ออกประกาศภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ จากนั้น คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประชุมในวันที่ 15 ม.ค. 2562 พิจารณาแล้วมีมติให้ใช้มติเดิมคือ
จนเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงาน มีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯที่ดูแลกรมวิชาการเกษตร ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะแบนสารป้องกันกำกำจัดศัตรูพืชทั้ง3 ชนิดภายในปี2560 และเริ่มดำเนินการด้วยการ ขอข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรด้วยตนเอง ออกไปตรวจสต็อก ทำให้ฝ่ายที่ต่อต้นการใช้สารทั้ง 3 ชนิดสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว
“ข้อถกเถียงจะแบนหรือไม่แบน นายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรหารือโดยได้ตั้งคณะทำงาน ที่มีนางสาวมนัญญาเป็นประธานพิจารณาเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2562 โดยมีมติให้ล็อกโหวตในการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค. ให้แบนการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป โดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมได้นำมตินี้กำหนดเป็นวาระในที่ประชุมด้วย”
หลังมติให้แบนสารทั้ง 3 ชนิด ส่งผลให้ 5 ประเทศ คือ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือมาให้ไทยแจ้งรายละเอียดของการแบน 3 สาร พร้อมทั้งให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันการตกค้างของสารเคมี ในผลผลิตด้านการเกษตร
ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเหล่านี้เป็นที่มาว่าการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 พ.ย. นี้ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เป็นชุดใหม่จากเดิมที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานนั้นจะทบทวนมติเดิมหรือไม่
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการชีววิถี หรือ BioThai หนึ่งในองค์กรนำในเครือข่ายต้านสารพิษเกษตร หรือ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตรร้ายแรง 686 องค์กร ประเมินว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้แบนสารพิษเกษตรทั้ง 3 ชนิด ยังคงมีผลผูกพันต่อกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง แม้จะต้องผ่านการลงนามรับรองจากรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ เพราะถือว่าเป็นการทำงานในระดับนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม กำหนดระยะเวลาที่ให้มีการยกเลิกการใช้สารพิษทั้งสามตัวในวันที่ 1 ธ.ค.นั้น อาจมีความล่าช้าออกไปอีกนะยะ เนื่องจากมีความกระชั้นชิด และต้องใช้เวลาในการเตรียมการกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ร่างกฎกระทรวงฯ ใหม่ที่ต้องใช้เวลารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามกฎหมาย
“การเลื่อนเวลาการยกเลิกการใช้สารพิษเกษตรออกไป ไม่ได้มีนัยยะอย่างใดต่อการดำเนินการขึ้นต่อไป นอกเสียจากว่า จะเกิดความล่าช้าเกินหนึ่งหรือสองเดือน ซึ่งอาจแสดงถึงความผิดปกติของกระบวนการ”
เครือข่ายฯ ไม่ได้มีความกังวลต่อแนวทางที่จะนำมาใช้ทดแทนสารพิษเกษตรที่ถูกแบนไป เพราะยังมีทางเลือกในการกำจัดวัชพืชที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีเกษตร โดยเครือข่ายฯ ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวในงานสัมมนาในต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมี 3 ทางเลือกคือ การใช้เครื่องจักรกลมาแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช การปลูกพืชคลุมดิน และ การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชแบบผสมผสาน
อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ว่าที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปคิดโครงการในการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ มาตรการในการเยียวยา
โดยให้จัดทำหลักเกณฑ์ การกำหนด กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการเยียวยา จำนวนพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ อัตราที่จะใช้การเยียวยา เป็นต้น มาตรการจัดการเชิงปฏิวัติในการกำจัดวัชพืชหากมีการยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าว
อาทิ การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือการทำเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้จัดตั้งทีม Task Force เพื่อศึกษาวิจัย หาสารชีวภัณฑ์ หรือ จุลินทรีย์ มาทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งในประเด็นดังกล่าวจะมีการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาต่อไป