35 องค์กร แถลงการณ์หยุด “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา”
“สมัชชาแม่น้ำ 35 องค์กร”แถลงการณ์จี้นายกรัฐมนตรี ยุติสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของกทม.พร้อมชู5 เหตุผล ยืนยันเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ย้ำเดินหน้าคัดค้านให้ถึงที่สุด ไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล กรุงเทพมหานคร
จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร มีแผนพร้อมเดินหน้าสร้างทางเลียบเจ้าพระยาเฟสแรก จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน (ฝั่งพระนคร) และจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด (ฝั่งธนบุรี) โดยอ้างว่าไม่มีผู้คัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
วันนี้ (3 ธ.ค.2562) สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรวิชาชีพที่มีพันธกิจด้านเมืองและ สิ่งแวดล้อม ร่วมด้วยภาคีวิชาชีพ องค์กร ภาคประชาสังคม และชุมชนต่างๆ อาทิ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษา สมาคมอิโคโมสไทย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งเเวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ เครือข่ายเพื่อนแม่น้ำ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เครือข่ายมักกะสัน กลุ่มบิ๊กทรีส์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนฯลฯ แถลงการณ์ "หยุด! ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวว่า ตามที่ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานคณะกรรมการวิสามัญการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายของรัฐบาลพร้อมด้วยคณะทำงานและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข่าวว่ากรุงเทพมหานครพร้อมเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาระยะแรก ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน
ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทานถึงคลองรอบกรุงช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัดถึงคลองบางยี่ขัน โดยอ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงยังมีองค์กรและภาคประชาสังคมได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
อีกทั้งโครงการนี้ ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมัชชาแม่น้ำอันประกอบด้วยองค์กรและเครือข่าย 35 องค์กร เห็นว่าหากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการ
ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. สมัชชาแม่น้ำ เห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำ และมีการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเหมาะสมกับบริบทและคุณค่าของพื้นที่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
2. ทั้งที่กทม.สามารถดำเนินการแก้ปัญหาการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตามอำนาจกฎหมายที่มีอยู่ได้ แต่กลับไม่ทำ ในทางตรงกันข้าม กลับทำเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่รุกล้ำแม่น้ำเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้แม่น้ำคับแคบทั้ง 2 ฝั่ง รวม 20 เมตร
3. แม่น้ำเจ้าพระยาควรถูกอนุรักษ์เป็นโบราณสถานตลอดสายน้ำ เพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป แต่การทำถนนรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำลายประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นตัวขวางกั้นการเชื่อมโยงของวิถีชีวิตริมน้ำอันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน
4.การก่อสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในกรณีที่เกิดอุทกภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ถึงแม้ว่าในภาวะปกติพฤติกรรมการไหลที่เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก แต่จะส่งผลต่อสัณฐานลำน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง การตกตะกอนในลำน้ำจนถึงการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งกทม.ควรศึกษาผลกระทบให้ครบถ้วน รอบด้านก่อนอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมในอนาคต
5. ล่าสุดจากการที่กทม.ตัดโครงการดังกล่าวออกบางส่วน จากเดิมที่วางแผนไว้ 14 กิโลเมตร คงเหลือความยาวรวมประมาณ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังมีการศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย แม้แต่จากทางภาครัฐเอง ตามที่กทม.กล่าวอ้าง
นายอัชชพล กล่าวต่อว่าจากเหตุผลที่กล่าวว่าข้างต้น สมัชชาแม่น้ำจึงมีความเห็นว่าหากมีการดำเนินโครงการนี้ต่อไปจะก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ สมัชชาแม่น้ำจึงขอคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในรูปแบบการสร้างถนนลงไปในแม่น้ำ และของให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดสั่งยุติโครงการ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอแสดงความนับถือ สมัชชาแม่น้ำและองค์กรภาคีเครือข่าย
“การคัดค้านของพวกเรายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ จนกว่าจะมีการยุติโครงการดังกล่าว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรนั้น เราต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะเราไม่ได้ทำด้วยการใช้อารมณ์ เราไม่ได้เป็นปฎิปักษ์ต่อรัฐบาล เราไม่ได้เป็นปฎิปักษ์กับกรุงเทพมหานคร เราทำในฐานะภาคประชาสังคมที่รักแล้วก็อยากเห็นสิ่งดีๆ ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป” นายอัชชพล กล่าว
นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสมัชชาแม่น้ำ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายได้ยื่นเอกสารยื่นฟ้องภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ศาลปกครองได้รับคำร้อง ซึ่งคำร้องข้อแรกที่ได้ยื่นให้ศาลปกครองพิจารณา คือโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้มีการถอดถอนโครงการ ซึ่งศาลได้ส่งเอกสารไปยังทางผู้ถูกฟ้อง และขณะนี้ผู้ถูกฟ้องได้ทำเอกสารโต้แย้งมา พร้อมทั้งขอให้ทางผู้ฟ้องร้องทำข้อโต้แย้งคัดค้าน
ดังนั้น ตอนนี้ทางสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่าย กำลังปรึกษาหารือกับทีมกฎหมาย และจะดำเนินการจัดทำข้อโต้แย้งคัดค้านไปตามกระบวนการข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คาดว่าจะจัดทำข้อโต้แย้งคัดค้านยื่นไปยังศาลปกครองภายในกลางเดือนม.ค. ปี 2563 เพราะค้นพบว่าเอกสารโต้แย้งจากฝั่งผู้ถูกฟ้องนั้นยังเป็นการทำงานที่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่พอเพียง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการพิจารณาของศาลปกครอง
นายพนิต ภู่จินดา อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวสร้างผลกระทบในการพัฒนาเมือง ทั้งการทำให้ชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำไม่มีความเป็นส่วนตัว ประชาชนทั่วไปควรใช้พื้นที่ริมน้ำได้จริง แต่ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงตลอดแนวแม่น้ำทั้ง 14 กิโลเมตร ส่วนที่ต้องทำทางเลียบแม่น้ำลงไปในแม่น้ำผ่านพื้นที่ของรัฐ เพราะพื้นที่รัฐเองก็ไม่ยอมให้ใช้ ซึ่งถ้าใช้พื้นที่ของรัฐเหล่านั้นเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ก็ไม่จำเป็นต้องทำทางเลียบแม่น้ำ
รวมถึงงบประมาณ ซึ่งไม่ใช่เพียงการก่อสร้างแต่รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในทุกด้าน อีกทั้งยังเป็นการลดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยริมน้ำลง ทำลายภาพจำของต่างชาติที่ฉายออกไปทั่วโลก ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ริมแม่น้ำต่างของไทยจากประเทศอื่นที่มีพื้นที่สาธาณะตลอดแนวแม่น้ำ
เป็นโครงการโดดเดี่ยว เพราะมีเพียงหน่วยงานเดียวรับผิดชอบทั้งที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเมือง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่ ควรเลือกพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน และใช้พื้นที่รัฐเป็นตัวอย่างในการเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงได้ เพราะตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ก็มีการเปิดช่องไว้ให้ทำ ที่เรียกว่าที่อุปกรณ์แต่ภาครัฐไม่เคยใช้