เด็กคอนโดในวันนี้ คือคนไทย 4.0 ในวันหน้า
แม้ว่าเมืองจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กลับทำให้คนไทยมีลูกน้อยลง เพราะคนเริ่มหันมาอยู่อาคารสูงหรือคอนโดมากขึ้น ทั้งความสะดวกต่อการเดินทางทำงาน และการดำเนินชีวิต และสิ่งที่น่ากังวลคือ เด็กในอนาคตจะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีคุณภาพ
การกวาดสัญญาณในโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โดย อ.ภัณฑิรา จูละยานนท์ ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พบว่า คอนโดมิเนียมสร้างใหม่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่สัดส่วนของยูนิตแบบห้อง 1 ห้องนอนมากขึ้น และแบบห้อง 2 ห้องนอนน้อยลง ลดฟังก์ชันการใช้งานที่สำคัญในชีวิตประจำวันลง และทำให้คนเมืองถูกบีบให้ต้องอยู่บ้านคนเดียว เพราะขนาดพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยร่วมกับผู้อื่น ซึ่งรวมไปถึงการมีครอบครัว
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้อาคารอยู่อาศัยรวมต้องมีพื้นที่ภายในแต่ละหน่วยที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตร ห้องนอนต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร และห้องน้ำที่รวมกับห้องสุขาต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.50 ตารางเมตร การแบ่งพื้นที่ 10.5 ตารางเมตร ที่เหลือกับคู่ชีวิตหรือลูกอีก 1-2 คน ย่อมไม่ใช่การอยู่อาศัยที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ภาพครอบครัวที่อาศัยอยู่ในห้องขนาด 20 ตารางเมตรนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากกฎหมายไม่ระบุจำนวนผู้ใช้งานต่อพื้นที่ไว้ ความคับที่เช่นนี้อาจกลายเป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจหาคู่ มีครอบครัวและมีลูกของคนโสดวัยหนุ่มสาวที่ต้องการมีบ้านในเมืองใกล้ที่ทำงานเรียกว่า คับที่จนคับใจ
เมืองกินเด็ก (A child-devouring city) หลายครอบครัวตัดสินใจไม่มีบุตร เพราะสภาพสิ่งแวดล้อมในเมืองไม่เหมาะกับการเลี้ยงดูเด็กอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ มีความเสี่ยงภัยหลายด้าน ทำให้เกิดความระแวง ระวัง และวิตกกังวลจนไม่อยากมีลูก สภาพแวดล้อมของการอยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมีบุตร
กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นภาพที่ชัดเจน การเดินทางที่ไม่สะดวกและปลอดภัย สตรีที่ตั้งครรภ์ไม่สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางได้อย่างปลอดภัยเพื่อไปโรงพยาบาลหรือที่ทำงานที่ใกล้กับที่อยู่อาศัย ในด้านสาธารณูปการที่รองรับการมีบุตรคือโรงพยาบาลและโรงเรียน ใน กทม.ก็มีจำนวนที่ไม่ครอบคลุมต่อการบริการทั่วทั้งเมือง โดยเฉพาะปัญหาโรงเรียนที่มีคุณภาพและตั้งอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยมีอยู่จำกัด จึงเกิดความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา หลายครอบครัวต้องพึ่งทางเลือกที่แพงกว่าหรือไกลกว่า
ปัญหาสาธารณูปการทำให้ กทม.เป็นเมืองที่มีต้นทุนสูงในการเลี้ยงดูบุตร ทำให้การตัดสินใจมีบุตรนั้นยากขึ้นไปอีก
บ้านขนาดเล็กที่บีบบังคับให้คนเมืองต้องอยู่คนเดียวและคนมีครอบครัวไม่ควรอยู่ในเมืองเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนเมือง สิ่งนี้อาจส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงปัญหาอัตราการเกิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศในอนาคต เด็กคอนโดถ้ามีก็มักจะเป็นลูกคนเดียวที่โตขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เด็กคอนโดไม่เคยสัมผัสดิน เด็กเกิดและโตในคอนโดคือปรากฏการณ์ใหม่ของชีวิตเมืองในประเทศไทย เด็กกลุ่มนี้เป็นคนเจเนอเรชั่นแรกที่เติบโตมาในอาคารสูง เรียนรู้ที่จะกดลิฟต์ก่อนก้าวขาลงบันได และใช้เวลาปีนป่ายเครื่องเล่นพลาสติกบนพื้นยางสังเคราะห์มากกว่าการปีนต้นไม้ และวิ่งเล่นด้วยเท้าเปล่าบนผืนหญ้านุ่ม
งานวิจัยจำนวนมากในต่างประเทศได้ศึกษาพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กที่อาศัยในที่อยู่อาศัยแนวตั้ง และชี้ให้เห็นว่าส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก เด็กในอาคารสูงมักใช้เวลาในการเล่นคนเดียวในอาคาร และมีโอกาสในการเล่นนอกอาคารน้อยกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านประเภทอื่น มักขาดโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติและโอกาสในการพบปะกับผู้คนที่หลากหลาย อาจส่งผลเชิงลบต่อทักษะและพัฒนาการของเด็ก เช่น สมรรถภาพทางกลไก (Motor ability) ภูมิคุ้มกันทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเรียนรู้เชิงสังคม
เด็กคอนโดอดชิมรสมือแม่ ในเชิงการใช้งาน หากการกิน นอน ขับถ่ายและทำความสะอาดร่างกายเป็นกิจกรรมดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ บ้านหลังหนึ่งจึงควรประกอบด้วยห้องนอน ห้องน้ำ และห้องครัวเป็นพื้นฐาน และห้องนั่งเล่นเป็นสิ่งจำเป็นขั้นรองลงมา
แต่เนื่องจากกฎหมายไม่มีการกำหนดให้ที่อยู่อาศัยต้องมีห้องครัว พื้นที่ทำครัวและนั่งเล่นจึงมักออกแบบรวมไว้ในพื้นที่เดียวกัน โดยพื้นที่ทำครัวมักถูกลดทอนให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มพื้นที่นั่งเล่นที่สร้างมูลค่าให้กับห้องได้มากกว่า การประกอบอาหารจึงเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากไม่มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม
นอกจากนี้ระเบียบของคอนโดบางแห่งไม่เอื้อให้ผู้อยู่อาศัยประกอบอาหารในห้อง คนเมืองจำนวนมากจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกินอาหารนอกบ้าน ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย นอกจากนี้ห้องที่เล็กลงทำให้คนเมืองมีโอกาสสัมผัสแสงแดดน้อยลง ระบายอากาศในห้องได้ยากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อสุขภาวะได้ในระยะยาว
แนวโน้มของห้องคอนโดที่มีขนาดเล็ก ยังส่งผลต่อคุณภาพด้านโภชนาการของเด็ก แนวคิดตั้งต้นในการออกแบบคอนโดคือผู้อยู่จะซื้ออาหารนอกบ้านกินเป็นหลัก อีกทั้งที่อยู่อาศัยเหล่านี้ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมตลาดหรือแหล่งอาหารที่สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้สะดวก แม่ลูกอ่อนในคอนโดจึงไม่สามารถทำอาหารให้ลูกกินได้และต้องเลี้ยงลูกด้วยอาหารที่คนอื่นทำ อาหารเหล่านี้ไม่อาจระบุได้ว่ามีสารอาหารที่เหมาะสมหรือจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวหรือไม่
เด็กทารกควรมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยผ่านการเล่นในที่โล่งแจ้ง รับแสงแดด อากาศบริสุทธิ์ ประเทศไทยจะมีคนไทย 4.0 ที่มีคุณภาพได้ อย่างน้อยต้องมีการเรียนรู้และการกินอย่างมีคุณภาพ เมืองที่เต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยแนวตั้งเฉกเช่นในปัจจุบันคงไม่ใช่เมืองที่ดีนักสำหรับการเติบโตของเด็ก
พ่อแม่บางคนจึงเลือกไปอยู่บ้านเดี่ยวชานเมืองเพื่อให้ลูกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี โดยยอมแลกกับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทาง แต่ก็อาจทำให้พวกเขาเหล่านี้มีเวลาอยู่บ้านกับลูกน้อยลงไปด้วย ในสังคมที่มีอัตราการเกิดน้อยลงต่อเนื่อง หากรัฐไม่มีนโยบายที่ส่งเสริมให้เมืองมีสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่เหมาะสมกับการเลี้ยงลูกได้ การเติบโตในแนวตั้งของเมืองก็จะเกิดขึ้นต่อไป และสังคมสูงวัยที่ไม่มีคนรุ่นใหม่ประคับประคองก็จะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถบรรเทาได้อย่างแน่นอน
คนไทย 4.0 ที่เติบโตในลักษณะนี้ก็จะกลายเป็นคนด้อยคุณภาพกว่าที่ควรจะเป็น!
ติดตามผลงานคนเมือง 4.0 ได้ที่ www.facebook.com/Khonthai4.0 และ www.khonthai4-0.net