"ไบโอพลาสติก” แก้ปัญหาขยะล้นโลก
นักวิชาการ ย้ำไบโอพลาสติก ย่อยสลายทางชีวภาพ แก้ปัญหาขยะล้นโลกได้ แม้คุณสมบัติยังไม่ดีเทียบเท่าพลาสติกจากปิโตรเลียม แต่ช่วยด้านสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ฝากรัฐวางมาตรการกระตุ้นเกิดอุตสาหกรรมไบโอเคมี เดินหน้าใช้ผลผลิตจากซากพืชซากสัตว์ สร้างไบโอพลาสติก
ที่วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ ได้ออกมาอธิบายถึง ไบโอพลาสติก พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradability) ว่าตามธรรมชาติการผลิตคาร์บอนไดออกไซต์ และการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน ต้นไม้เป็นผู้ทำหน้าที่ในการคายคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศและดึงกลับมาสู่ต้นไม้ เป็นการหมุนเวียนของคาร์บอน
แต่ด้วยความฉลาดของมนุษย์ในการจะนำคาร์บอนเก่าที่อยู่ใต้ดิน อย่างน้ำมันปิโตรเลียม มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างนวัตกรรมต่างๆ ทำให้วงจรตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นไม่เกิดขึ้น และพลาสติก เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ถูกสร้างจากปิโตรเลียม ทำให้ได้พลาสติกที่มีความเหนียว ทนความร้อน ทนสภาพได้ดี และราคาถูก อย่าง พลาสติก PE และ PP คุณสมบัติดีแต่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และเกิดปัญหาขยะพลาสติกอย่างเช่นทุกวันนี้
ศ.ดร.สุวบุญ กล่าวต่อว่าไบโอพลาสติก เป็นการผลิตพลาสติกตามชีวภาพที่ย่อยสลายได้ โดยเป็นการผลิตจากพืช และเมื่อทิ้งไปยังผืนดินก็สามารถย่อยสลายได้กลายเป็นดิน เป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่เกิดคำถามเสมอ คือ แยกคำว่าย่อยสลายได้อย่างไร โดยการย่อยสลายของพลาสติก สามารถแบ่งพลาสติกได้ในรูปแบบของ Biodegradation พลาสติกที่ย่อยสลายตามชีวภาพ ย่อยสลายได้ 100% Compostable polymers พลาสติกแบบฝังกลับและได้เป็นปุ๋ย มีมาตรฐาน D6400 ว่าเมื่อมีการนำพลาสติกไปฝังกลบต้องหายไปหมดเกลี้ยงภายใน 180วัน
ส่วนใหญ่ใช้เพื่อวิเคราะห์บรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจจิ้ง แต่ทั้งนี้การฝังกลบก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแต่ละที่ แต่ละประเทศด้วย ส่วน-based plastics(BMP) คือการช่วยโลกได้เพียงส่วนหนึ่ง ในหลายประเทศมีการผลิตโดยใช้ไบโอพลาสติกและพลาสติกจากปิโตรเลียมเกิดการเติม หรือการเบลนเข้าด้วยกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีการผลิตขวดแชมพู โดยทำมาจากไบโอพลาสติกเพียง 30% แต่อย่างน้อยเขาก็สามารถบอกได้ว่าช่วยโลก 30% และลดปริมาณการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียมมาใช้พลาสติกจากซากพืชซากสัตว์ อย่างไบโอพลาสติก เป็นต้น
“สิ่งที่พบในกระบวนการไบโอพลาสติก เป็นวงจรในธรรมชาติ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกและภาวะโลกร้อนได้ด้วย เพราะภาวะโลกร้อนเกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์ การที่พืชเจริญเติบโตมีการปล่อยและกินคาร์บอนไดออกไซต์อยู่แล้ว การที่มนุษย์เอาคาร์บอนไดออกไซต์ใต้โลกมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมัน และมีการใช้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไปเช่นกัน เพราะการแก้ปัญหาโลกร้อนได้ดีที่สุด คือ มนุษย์ไปเจาะเอาคาร์บอนใต้ดินมาใช้” ศ.ดร.สุวบุญ กล่าว
ศ.ดร.สุวบุญ อธิบายว่าสำหรับความแตกต่างระหว่าง Biodegradation และOXO-biodegradable o นั้น จริงๆ พลาสติกประเภท OXO-biodegradable ไม่ใช่พลาสติกที่ย่อยสลายแต่เป็นพลาสติกแตก คือแตกเป็นไมโคร เกิดอนุมูลอิสระ ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหาการย่อยสลายของพลาสติกว่าเป็นพลาสติก OXO ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะไม่ได้แตกสลายไปจนทำให้เกิดกระบวนการที่ย่อยสลายจนให้คาร์บอนไดออกไซต์ หรือมีเทนก๊าซ เพียงแต่แตกออกเป็นไมโครพลาสติก ชิ้นเล็กๆ และอยู่ในสภาพพลาสติกเช่นเดิม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญกับไมโครพลาสติก เพราะเมื่อตกลงไปในทะเล ไหลลงไปตามน้ำ สัตว์น้อยใหญ่กินเข้าไปก็ตายเช่นเดียวกัน
“การย่อยสลายของพลาสติก พบว่ามีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ของวงการวิชาการ เพราะบางพลาสติกย่อยสลายได้ในดิน บางพลาสติกย่อยสลายได้ในน้ำทะเล แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ชัดเจน คือไบโอพลาสติกสามารถย่อยสลายได้100% แต่ไม่ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะหากไม่มองเรื่องขยะ พลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมสามารถตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตของผู้คนได้ เพียงแต่พลาสติกที่มาจากปิโตรเคมีไม่สามารถแตกสลายได้ทางชีวภาพ ทำให้ตอนนี้หลายบริษัท องค์กรจึงมุ่งพัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ และมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกมาจากปิโตรเลียม แต่กำลังอยู่ในการทดลอง"
"ดังนั้น ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่มี ไบโอพลาสติกที่ทำงานได้ดีเทียบเท่าพลาสติกจากปิโตรเลียม และราคาไบโอพลาสติกค่อนข้างสูงเมื่อเทียบพลาสติกจากปิโตรเลียม 2-3 เท่าตัว การแก้ปัญหาตอนนี้จึงมีการนำไบโอพลาสติกผสมเข้ากับพลาสติกจากปิโตรเลียม เช่น มีการนำไบโอพลาสติก PLA ผสมกับพลาสติกจากปิโตรเลียม PBS เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปได้จริงในท้องตลาด สามารถใช้งานได้จริง” ศ.ดร.สุวบุญ กล่าว
มาตรการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยการลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งและพยายามเอาพลาสติกที่เป็นไบโอพลาสติกมาใช้นั้น ศ.ดร.สุวบุญ อธิบายต่อไปว่าการนำไบโอพลาสติกมาใช้นั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกได้ เพราะพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการ อย่าง การลดภาษี
ซึ่งตอนนี้มีการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เกิดขึ้นได้จริงผ่านมาตรการทางภาษี แต่ก็อยากให้เกิดอุตสาหกรรมไบโอเคมี เทียบคู่กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมด้วย เพราะไทยมีการนำอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาใช้ผลิตเป็นน้ำตาล น้ำมัน แต่ยังไม่ได้เดินหน้าเรื่องเหล่านี้ให้กลายเป็นไบโอในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมาใช้ทำไบโอพลาสติกก็สามารถทำได้
ศ.ดร.สุวบุญ กล่าวอีกว่าไบโอพลาสติก ถ้าพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตต้องมองว่าคุณภาพชีวิตด้านไหน ถ้าพูดถึงคุณภาพชีวิตในแง่ความสะดวกสบาย ต้องบอกว่าตอนนี้ไบโอพลาสติกอาจจะไม่ได้มีคุณภาพที่เทียบเท่าพลาสติกจากปิโตรเลียม แต่เชื่อว่าอีก 2 ปีสามารถพัฒนาให้ไบโอพลาสติกสามารถใช้งานได้เทียบเท่า
"ขณะเดียวกัน ปัญหาของบ้านเรา คือ การบริหารจัดการขยะที่ไม่ดี หากคุณภาพชีวิตในแง่สะดวกสบายสามารถใช้พลาสติกจากไบโอพลาสติก ทิ้งและย่อยสลายได้ 100% ในอีก 6 เดือน ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาตกค้างในดิน ท้องทะเล ที่สำคัญยังเป็นการลดปัญหาขยะล้นโลก และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้คงอยู่ต่อไป"