ส่องวงการ ‘ท่องเที่ยวไทย’ 10 ปีผ่านไป มีอะไรเปลี่ยนบ้าง?

ส่องวงการ ‘ท่องเที่ยวไทย’ 10 ปีผ่านไป มีอะไรเปลี่ยนบ้าง?

ชวนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไป 10 ปีที่แล้ว มาส่อง 'เทรนด์ท่องเที่ยวไทย' กันว่าเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งทศวรรษ (ตั้งแต่ปี 2010 - 2019) นักท่องเที่ยวยุคก่อนมีไลฟ์สไตล์เหมือนหรือแตกต่างกับขาเที่ยวในปัจจุบัน

หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า “การเดินทาง” เป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนเราออก “เดินทางท่องเที่ยว” เพราะมันเป็นสิ่งที่ได้รับการสืบทอดกันมาทางพันธุกรรมตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เหมือนดังบางช่วงบางตอนของบทความที่ชื่อ A Brief Visual History of Travel ที่ระบุว่า “หากมีอะไรสักอย่างที่นำมาใช้นิยามธรรมชาติของมนุษย์ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ นั่นคือ ความอยู่ไม่สุขของคนเรา”

และความอยู่ไม่สุขนั้นก็เป็น "แรงกระตุ้นที่ยากจะต้านทาน ทำให้เราเคลื่อนย้าย เสาะหา และข้ามพรมแดนใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และตอบสนองต่อสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็น แบบเดียวกับที่ทำให้บรรพบุรุษของเราลงจากยอดไม้และเริ่มสำรวจผืนป่าเมื่อ 6 ล้านปีก่อน” ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยถึงออกเดินทางท่องเที่ยวจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย

แล้วถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ปี 2010) ผู้คนในยุคนั้นมีเทรนด์การท่องเที่ยวแตกต่างกับยุคนี้ (ปี 2019) ยังไงบ้าง? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน

  • การเสพข้อมูลท่องเที่ยว 2010 VS 2019

เมื่อ 10 ปีก่อนสังคมไทยเพิ่งจะเปิดรับเทคโนโลยีด้านโซเชียลมีเดียได้ไม่นานนัก จึงเริ่มมีการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวด้วยการใช้เสิร์ชเอ็นจิ้นผ่านทางอินเทอร์เนต แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการอ่านข่าวท่องเที่ยววาไรตี้ หรือตามเว็บไซต์สังคมออนไลน์ ที่มีคนไปทำรีวิวท่องเที่ยวเอาไว้บนบอร์ดสนทนา ซึ่งสมัยนั้นก็ยังมีการเผยแพร่ลักษณะนี้ยังไม่มากนัก โดยเทรนด์การเสพข้อมูลในช่วงปี 2010 ก็คือได้ยินได้ฟังผ่านทางหน้าจอทีวี วิทยุ การอ่านหนังสือพิมพ์ หรือการอ่านนิตยสารและพ็อกเกตบุ๊คหมวดการท่องเที่ยว เป็นต้น

ข้อมูลจาก “รายงานสรุปฯ ของโครงการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมด้านการท่องเที่ยวของชาวไทย” (เดือนมีนาคม ปี 2553) เปิดเผยถึงพฤติกรรมการบริโภคสื่อด้านการท่องเที่ยวว่า ขาเที่ยวยุคนั้นจะหาข้อมูลจากนิตยสารท่องเที่ยว เช่น อสท. และนิตยสารอื่นๆ เช่น CLEO, แพรว, แพรวสุดสัปดาห์, LISA บางส่วนก็หาอ่านจากหนังสือพิมพ์ เช่น ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน,  บางกอกโพสต์ นอกจากนี้ก็เสพข้อมูลจากสื่อทีวี เช่น Navigator, Journey Thailand และหาจากเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ ททท.

157687016088

แตกต่างจากปี 2019 ที่ผู้คนสามารถหาข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากการค้นหาผ่านทางเสิร์ชเอ็นจิ้นทางอินเทอร์เนตซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนยุคนี้แล้ว สังคมออนไลน์ก็ขยายตัวมากขึ้น เกิดบล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ทุกคนต่างก็มาแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวทริปต่างๆ ผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ มีการขยายตัวของโซเชียลมีเดีย (Facebook, IG, Twitter) ไม่ว่าใครก็สามารถโพสต์รูปแหล่งท่องเที่ยวได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงก่อเกิดกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์อย่าง Youtuber สายท่องเที่ยวมากมายหลายช่อง ที่ช่วยให้คำแนะนำการท่องเที่ยวเสน้ทางต่างๆ ทำให้การหาข้อมูลการท่องเที่ยวในยุคนี้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว

รวมถึงมีผู้ให้บริการที่เรียกว่า OTAs (Online Travel Agents) หรือ เอเจนท์ออนไลน์ที่เป็นหนึ่งในช่องทางการขายสินค้าทางการท่องเที่ยวครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว, บริการจองตั๋วเครื่องบิน, จองรถเช่า, บริการจองโรงแรม หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบราคาการท่องเที่ยวแต่ละแห่งเพื่อหาราคาที่ดีที่สุดให้นักท่องเที่ยวได้ด้วย ยกตัวอย่างผู้ให้บริการเหล่านี้ ได้แก่ Agoda, Expedia, Booking, Traveloka และ Tripadvisor เป็นต้น

  • เทรนด์และรูปแบบการท่องเที่ยว 2010 VS 2019

มาดูเรื่องของรูปแบบการท่องเที่ยวกันบ้าง สำหรับปี 2010 ผู้คนในยุคนั้นเน้นกินเที่ยวพักผ่อน ชอบการเที่ยวแบบสะดวกสบาย อยู่ดีกินอร่อยพร้อมจ่ายเต็มที่ จากข้อมูลชุดเดียวกันของ “โครงการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมด้านการท่องเที่ยวของชาวไทย” ระบุว่านักท่องเที่ยวสมัยก่อนเน้นการเที่ยวพักผ่อน เช่น เที่ยวเพื่อจะได้กินอาหารอร่อย เพื่อได้รับอากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกอิสระ คนไทยร้อยละ 80 เลือกรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อ “การพักผ่อนหย่อนใจ” มากที่สุด เน้นเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักที่โด่งดังเป็นกระแส 

นอกจากนี้ยังเน้นการท่องเที่ยวที่ง่ายๆ ไม่โลดโผน มีความต้องการด้านความปลอดภัย (Safety Needs) สะท้อนออกมาจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่มักไปเที่ยวที่เดิมๆ ที่ตนเองคุ้นเคย เพราะรู้สึกปลอดภัยในสถานที่ที่เคยไปเป็นประจำ ผลสำรวจว่าคนไทยร้อยละ 88 ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ “ความปลอดภัย” ทั้งในแง่ของสถานที่และการเดินทาง และชอบไปเที่ยวกันเป็นครอบครัวใหญ่ๆ หรือกลุ่มเพื่อนเป็นกรุ๊ปใหญ่ มีข้อมูลพบว่าการไปเที่ยวแบบกลุ่มครอบครัวมีจำนวนสูงถึง 38.8% สัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มประชากร

157687016194

แตกต่างจากเทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2019 ที่ขาเที่ยวส่วนใหญ่เน้นการเที่ยวแบบกลุ่มเล็กๆ และเลือกสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรอง เน้นความยูนีคไม่ซ้ำใคร จากผลสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า เทรนด์การท่องเที่ยวไทยของคนไทยยุคใหม่ในช่วงปี 2019 - 2020 มีความหลากหลายและ Unique มากกว่าขาเที่ยวยุคก่อน เน้นวิธีการเที่ยวในสไตล์ของตัวเอง แล้วมักจะแนะนำหรือแชร์ทริปเที่ยวของตัวเองให้ผู้อื่นต่อ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง กลายเป็นสังคมนักท่องเที่ยวเที่ยวแบบค้นคว้า แชร์ และแบ่งปัน โดยเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรงในยุคนี้ ได้แก่

- เทรนด์เที่ยวรักษ์โลก: เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากๆ สำหรับขาเที่ยวยุคใหม่ เน้นการเที่ยวแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก เน้นการเที่ยวพร้อมทำประโยชน์ให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ไปด้วย เช่น การเก็บขยะ อีกทั้งขาเที่ยวยุคนี้เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงและให้ความสำคัญกับคุณค่ามากกว่าราคา มักจะเลือกใช้บริการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างของเทรนด์เที่ยวรักษ์โลกก็อย่างเช่น Low Carbon Tourism หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่ใช้หลักการว่า “เที่ยวยังไงก็ได้ให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้น้อยที่สุด” เนื่องจากทุกๆ กิจกรรมการท่องเที่ยวปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมออกมาปีละ 4.5 กิกะตัน หรือราวๆ 4,500 ล้านตันต่อปี ดังนั้นผู้คนยุคใหม่จึงหันมาใส่ใจการเที่ยวแบบนี้มากขึ้น โดยเน้นใช้บริการขนส่งสาธารณะควบคู่ไปกับการใช้จักรยานในการพาไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงาน เลือกพักในโรงแรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เน้นการท่องเที่ยวประเภทอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เที่ยวแบบลึกซึ้งกับคนท้องถิ่นและชุมชน เป็นต้น ในต่างประเทศเริ่มรณรงค์ให้เที่ยวแบบ Low Carbon แล้วเหมือนกัน เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เม็กซิโก ฯลฯ

157687016085

- เทรนด์อวดภาพสวย: ขาเที่ยวสมัยนี้ ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนก็ไม่พลาดที่จะถ่ายภาพสวยๆ เพื่อแชร์ภาพสถานที่ท่องเที่ยวนั้นขึ้นบนโซเชียลมีเดีย เป็นการอวดภาพสวยในห้วงแห่งความประทับใจนั้นส่งต่อไปยังสังคมคนชอบเที่ยวด้วยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นที่เที่ยวทางธรรมชาติ ยอดดอย ทุ่งดอกไม้ หรือเที่ยวเมืองสวยๆ ที่มีสถาปัตยกรรมสุดอลังการ

- เทรนด์เที่ยวไม่ซ้ำใคร: มักจะเป็นขาเที่ยวแบบเที่ยวเดี่ยวชิลๆ หรือเที่ยวแบบกลุ่มเล็กๆ 2-3 คน เที่ยวเท่ๆ ได้ไม่จำกัดรูปแบบ ชอบค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ทำกิจกรรมใหม่ๆ ไม่ซ้ำใคร เน้นการเที่ยวตามไลฟ์สไตล์ของตัวเองเป็นหลัก ออกแบบทริปเอง หาข้อมูลเอง วางแผนเองทั้งหมด พูดง่ายๆ ว่าเที่ยวตามใจตัวเองในสไตล์ Unique Travellers

157793752125

  • ช่วงอายุนักท่องเที่ยว 2010 VS 2019

มาถึงอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอย่าง “ช่วงวัย” ของนักท่องเที่ยว ในอดีตเมื่อปี 2010 หรือสิบปีที่แล้ว ขาเที่ยวส่วนใหญ่เป็นโสดหรือแต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตร อายุอยู่ระหว่าง 20-40 ปี มีการศึกษาดี ทำงานออฟฟิศ รับราชการ หรือเป็นผู้บริหารระดับกลาง ใช้ชีวิตทันสมัย โดยกลุ่มที่ท่องเที่ยวมากที่สุดคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัว คือมีทุกเพศทุกวัยไปเที่ยวด้วยกันเป็นกลุ่ม มีทั้งเด็กนักเรียนอายุ 18 ปี คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุที่เพิ่งจะเกษียณ เป็นต้น

แต่ในยุคนี้ ปี 2019 ช่วงวัยและพฤติกรรมของขาเที่ยวเปลี่ยนไป คือมีช่วงอายุน้อยลง และชอบท่องเที่ยวแบบเน้นการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างลึกซึ้ง เน้นการเที่ยวเดี่ยว (Solo Travel) มากขึ้นกว่าสมัยก่อน ยืนยันได้จากผลสำรวจของ Visa Global Travel Intentions Study ในปี 2019 ระบุว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของคนไทย (28%) เลือกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ทั่วโลก (24 %) เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่านักท่องเที่ยวไทยที่เลือกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18–24 ปี มากถึง 45% ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 25–35 ปี มีจำนวน 28%

157687016134

และมีอีกข้อมูลที่น่าสนใจ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 36–44 ปี มีมากถึง 71% แต่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเดินทางไปเป็นกลุ่มในช่วงวัยเดียวกัน แปลว่าเทรนด์การเที่ยวสมัยนี้เริ่มมีกลุ่มวัยกลางคนที่ค่อนไปทางผู้สูงอายุหันมาท่องเที่ยวกันเอง (แบบไม่ได้ไปเป็นครอบครัวกับลูกหลาน) เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

  • แหล่งท่องเที่ยวไหนโดนใจที่สุด? 2010 VS 2019

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนในปี 2010 นิยมเดินทางไปเที่ยวและประทับใจมากที่สุดคือจังหวัดที่เป็นเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ พัทยา(ชลบุรี) ประจวบคีรีขันธ์ เขาใหญ่ กระบี่ ภูเก็ต เป็นต้น จากข้อมูลในรายงานฯ ของโครงการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมด้านการท่องเที่ยวของชาวไทย” (เดือนมีนาคม ปี 2553) ระบุว่าเป้าหมายการท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนมากที่สุดของคนไทย ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ

และเมื่อความประทับใจต่อแหล่งท่องเที่ยวของนักเดินทาง พบว่าแหล่งท่องเที่ยวทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้รวมถึง ภาคตะวันออก มีสัดส่วนของผู้ที่เคยไปเที่ยวแล้วรู้สึกประทับใจมากตามลำดับ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจแหล่งท่องเที่ยวภายในภาคในสัดส่วนน้อยกว่าภาคอื่นๆ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 หัวหิน ร้อยละ5.0, อันดับ 2 ภูกระดึง ร้อยละ3.9, อันดับ 3 เกาะเสม็ด ร้อยละ3.6, อันดับ 4 ดอยสุเทพ ร้อยละ3.3, อันดับ 5 ชะอํา ร้อยละ 3.2, อันดับ 6 เกาะช้าง ร้อยละ3.1, อันดับ 7 ปาย ร้อยละ2.9, อันดับ 8 เขาใหญ่ ร้อยละ 2.7, อันดับ 9 ดอยอินทนนท์ ร้อยละ2.4, อันดับ 10 เกาะพีพี ร้อยละ2.3

157687016167

ส่วนปี 2019 พบว่าขาเที่ยวชาวไทยชอบปักหมุดหมายการท่องเที่ยวที่ “เมืองรอง” มากขึ้น มีผลสำรวจจาก Booking.com คาดการณ์ว่าปี 2019-2020 จะเป็นปีแห่งการ “ท่องเที่ยวเชิงสำรวจ” คนรุ่นใหม่นิยมออกไปท่องเที่ยวแบบสำรวจสิ่งใหม่ๆ พร้อมกับการอนุรักษ์ไปพร้อมกัน นักท่องเที่ยวยุคใหม่นิยมเดินทางไปสำรวจจุดหมายที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่า เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองและช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายจากการท่องเที่ยวแบบแย่งกินแย่งใช้มากเกินไป โดยแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองยอดนิยม ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก นครนายก ลพบุรี ปทุมธานี ตราด จันทบุรี อุดรธานี หนองคาย บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล

  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2010 VS 2019

มาดูในมิติของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยกันบ้าง ใครๆ ก็รู้ดีว่าเมืองไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก หากย้อนกลับไปในอดีตในช่วงปี 2010 มีข้อมูลสถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยมีอยู่แค่ 15 ล้านคนเท่านั้น และค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ล่าสุดในปี 2019 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากกว่า 39 ล้านคน แปลว่าจากปี 2010 - 2019 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นมากถึง 24 ล้านคน ในระยะเวลา 10 ปี

ในช่วงปี 2010 เป็นปีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมตามสถานการณ์ เริ่มจากการประกาศพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในกรุงเทพฯ ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนพลเข้ามายึดพื้นที่การชุมนุมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งจุดในย่านราชประสงค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ และได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงในวันที่ 10 เมษายน 2553 ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างชะลอการเดินทางมายังประเทศไทยในปีดังกล่าว ลองมาไล่เรียงดูตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี ดังนี้

157687016049

ปี 2010 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 15,936,400 คน

ปี 2011 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 19,230,470 คน

ปี 2012 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 22,353,903 คน

ปี 2013 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 26,546,725 คน

ปี 2014 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 24,809,683 คน

ปี 2015 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 29,923,185 คน

ปี 2016 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 32,529,588 คน

ปี 2017 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 35,591,978 คน

ปี 2018 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 38,178,194 คน

ส่วนในปี 2019 จากรายงาน “พยากรณ์สถานการณ์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย” พบว่าปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 39,730,000 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.06% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.95 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.12% เมื่อเทียบกับปี 2561 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินตัวเลขการเติบโตของปริมาณและรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2562 ว่ายังคงมีอัตราที่น่าพอใจ และได้กำหนดทิศทางการเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในทิศทางใหม่คือ จากเดิมเป็นการท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณ (Mass Tourism) เปลี่ยนให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ซึ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับคุณค่ามากกว่าราคา เป็นนักท่องเที่ยวที่สรรหาสินค้าและบริการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

--------------------------

อ้างอิง:

http://www.etatjournal.com/download/2553/2553-executive-summary_bangkokian-tourist-behavior.pdf

http://www.etatjournal.com/mobile/index.php/menu-read-tat/menu-2011/menu-2011-apr-jun/97-22554-situation-travel-2010

http://www.tcdc.or.th/articles/others/16663/

https://www.unwto.org/

http://www.digitalagemag.com/

http://www.etatjournal.com/web/menu-read-web-etatjournal/menu-2014/menu-2014-apr-jun/586-22014-trend

https://www.researchgate.net/publication/324912772_The_Carbon_Impact_of_International_Tourists_to_an_Island_Country

https://tis.dasta.or.th/dastaknowledge/wp-content/uploads/2018/02/07-Low-Carbon-Tourism.pdf

https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1876610211012756