3 บิ๊กเชนจ์ 'ดับบลิวเอชเอ' ขับเคลื่อนธุรกิจปี 2563
"ดับบลิวเอชเอ" ชู 3 บิ๊กเชนจ์ธุรกิจโลจิสติกส์ นิคมฯ พลังงานไฟฟ้า ชี้ 5จี จุดเปลี่ยนสำคัญ หนุนไอโอทีเสริมศักยภาพโลจิสติกส์ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนลูกค้าในนิคมฯ ปรับสายการผลิตสมาร์ท แฟคตอรี ดันสมาร์ทกริด-แซนด์บ็อกซ์ หนุนซื้อขายไฟพลังงานหมุนเวียน
เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับหลายธุรกิจ ซึ่งนำมาสู่ทั้งวิกฤติและโอกาส ในขณะที่กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นโอกาสธุรกิจจากปัจจัยดังกล่าวและวางแผนขับเคลื่อนเพื่อชิงความได้เปรียบในการเป็นผู้นำ
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินกิจการนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้แค่ขายที่ดิน แต่ดับบลิวเอชเอได้ลูกค้าที่เป็นฐานหัวใจของธุรกิจจะขยายรายได้จากจุดนี้ได้มากมาย อากาศ พื้นดินและน้ำ นำมาสร้างรายได้ได้หมด โดยในอดีตมีผู้ให้ความเห็นว่าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมไทยขาลง เพราะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ลดลงเพราะไปลงทุนในเวียดนามที่ได้เปรียบเรื่องแรงงาน
การที่ดับบลิวเอชเอซื้อนิคมอุตสาหกรรมเหมราชเพราะเชื่อมั่นว่าหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีสเทิร์นซีบอร์ดเพิ่มเติม จะทำให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในโฟกัสของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นความเชื่อว่าสุดท้ายประเทศไทยยังทำอะไรได้อีกมาก
ทั้งนี้ หลังจากซื้อนิคมอุตสาหกรรมเหมราชมาแล้ว ได้ปรับโครงสร้างบริษัทแยกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจพัฒนาโลจิสติกส์ โดยบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้าโดยบริษัทดับบลิวเอชเอยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) 4.ธุรกิจดิจิทัล โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด
- ชี้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
นางสาวจรีพร กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2563 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Big Change) ที่มีพื้นฐานจากเทคโนโลยีดิจิทัลและมีผลต่อธุรกิจของดับบลิวเอชเอใน 3 ส่วน คือ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่จะเห็นภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการควบคุมบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำ Internet of things (IoT) มาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาดับบลิวเอชเอได้นำมาใช้บ้างแล้ว ซึ่งการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้จะช่วยการบริหารจัดการทั้งในด้านต้นทุน เวลาและการสร้างโอกาสทางธุรกิจ
2.ธุรกิจภาคการผลิตที่จะมีการปรับสายการผลิตเป็น Smart Factory ซึ่งจะมีแรงจูงใจจากจำนวนแรงงานที่ลดลง รวมถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ถูกลง รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งต่อไปจะมีการนำ IoT มาใช้ควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตของโรงงานมากขึ้น
3.ด้านพลังงานที่จะเข้าสู่ Smart Energy โดยจะมีการผลิตไฟฟ้าเองเพิ่มมากขึ้นจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะเกิดการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ เช่น การนำบล็อกเชนมาบริการจัดการการซื้อขายไฟฟ้าในบางพื้นที่ ทำให้ดับบลิวเอชเอได้ลงทุน Smart Grid เพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว
- ดัน 5จี ใช้ในภาคการผลิต
นางสาวจรีพร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ดังกล่าวจะมีพื้นฐานจากเทคโนโลยี 5จี ซึ่งดับบลิวเอชเอได้หารือเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอเอชเป็นพื้นที่นำร่องการใช้ 5จี ในภาคการผลิตเพราะลูกค้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนี้หมด
ทั้งนี้ เทคโนโลยี 5จี ไม่ใช่แค่ดูหนังฟังเพลง แต่นำมาใช้ในโรงงาน ธุรกิจบริการสุขภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ไอโอที ซึ่งในเดือน มี.ค.2563 ดับบลิวเอชเอจะจัดสัมมนาใหญ่เรื่อง 5จี จะเชิญผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มาร่วมกันสร้างโรดแมพเพื่อเตรียมความพร้อมเทคโนโลยีใหม่
"อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องใช้ 5จี สำคัญมากถ้าทำได้จะเกิดอุตสาหกรรม 4.0 ถ้าคุยกันเสร็จเห็นโรดแมพทุกคนวิน-วินหมด โรงงานจะได้วางแผนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ส่วนโรงงานใหม่จะหันไปใช้เครื่องจักรที่รองรับเทคโนโลยี 5จี ได้เลย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้ต้นทุนลดลง ศักยภาพสูงขึ้น มีกำไรมากขึ้น ทำให้การผลิตเร็วขึ้น" นางสาวจรีพร กล่าว
ดับบลิวเอชเอจะเริ่มนำร่องทดสอบในนิคมอุตสาหกรรมก่อน 2-3 แห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 ซึ่งพื้นที่ที่จะทดสอบจะมีโรงงานร่วมกันประมาณ 500-600 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และคอนซูเมอร์ โปรดักท์
"ขณะนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลายรายมาหารือกับดับบลิวเอชเอ ซึ่งผู้ให้บริการ 5 จี ที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะดับบลิวเอชเอได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆไว้แล้ว" นางสาวจรีพร กล่าว
- พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายไฟ
สำหรับการพัฒนา Smart Grid เกิดจากการที่มองเห็นว่าอนาคตพลังงานจากฟอสซิลจะมีปัญหา หลังจากเชื้อเพลิงถ่านหินโดนต่อต้านมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมุ่งไปที่พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอได้พัฒนา Smart Grid ในนิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงและถ้ารวมทุกนิคมอุตสาหกรรมจะใช้รวมกันในระดับพันเมกะวัตต์ โดยถ้ามี Smart Grid จะเกิดการค้าขายไฟฟ้าระหว่างกันขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีไฟฟ้าเหลือนำมาขายได้และทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะลดลง ซึ่งดับบลิวเอชเอจะสร้าง Ecosystem เพื่อให้ทุกฝ่ายวิน-วินทุกฝ่าย เพราะผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟบางรายจะมีไฟฟ้าเหลือใช้
รวมทั้งจะพัฒนา Sandbox ในช่วงต้นปี 2563 จะมีการลงนามเอ็มโอยูกับภาครัฐเพื่อทดสอบระบบใหม่ โดยจะต้องมีแหล่งผลิตพลังงานอย่างน้อย 2 แหล่งขึ้นไป ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอมีอยู่แล้ว คือ 1.โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) 2.การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ที่ได้ทยอยติดตั้งในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอแล้ว โดยขณะนี้รอเทคโนโลนี Energy Storage จะทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในนิคมอุตสาหกรรมจ่ายไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ Grid มีความสมบูรณ์และมีเสถียรภาพในการป้อนและจ่ายไฟฟ้าในระบบ
"จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาจัดการระบบนี้ทั้งหมด และใช้ไฟฟ้าจากภาครัฐเข้ามาเสริมในเรื่องความมั่นคง จะเกิดภาพที่ครบสมบูรณ์มีทั้งผู้ใช้และผู้ขายภายในนิคมอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาดที่ผลิตได้ภายในนิคมอุตสาหกรรม" นางสาวจรีพร กล่าว
- หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน
นอกจากนี้ ได้มีการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ โดยในอนาคตเมื่อการพัฒนาอีอีซีเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและการใช้น้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทำให้ดับบลิวเอชเอต้องเตรียมนวัตกรรมในการผลิตน้ำป้อนโรงงานจึงมีการรีไซเคิลน้ำนำมากลับมาใช้ใหม่ โดยจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่คุ้มค่ามากขึ้น
รวมทั้งดับบลิวเอชเอเห็นโอกาสที่สำคัญในเรื่องการให้บริการการบริหารจัดการน้ำและไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเพียงแผนกหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรม แต่ตรงนี้คือหัวใจที่จะสร้างรายได้จึงพัฒนาขึ้นมาเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ และจัดตั้งเป็นบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์จำกัด (มหาชน) โดยที่ผ่านมาจะเป็นเสือนอนกินขายน้ำและไฟฟ้าให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม แต่ดับบลิวเอชเอมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจึงเห็นว่ามีศักยภาพที่ขายให้นอกนิคมอุตสาหกรรมได้ รวมถึงการขยายธุรกิจส่วนนี้ไปต่างประเทศ