เมื่อน้ำเค็มรุกเมืองหลวง I Green Pulse
รัฐเร่งผลักดันน้ำเค็ม พร้อมเตรียมแผนระยะยาวหนีน้ำเค็มและหาแหล่งน้ำดิบสำรอง
จากตัวเลขจำนวนครัวเรือนที่ใช้น้ำในเขตกรุงเทพมหานครและอีกสองจังหวัดใกล้เคียงคือนนทบุรีและสมุทรปราการที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนอยู่ที่ราว 2.42 ล้านครัวเรือน ตามสถิติปี 2562 ล่าสุด, การประปานครหลวง(กปน.) กำลังพบกับความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอกับความต้องการที่เติบโตขึ้นตามการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจ
ไม่เพียงแต่ในมิติด้านปริมาณน้ำที่เป็นความท้าทายของหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการผลิตและการจ่ายน้่ำให้กับเขตเมืองหลวงของประเทศอย่าง กปน., หากในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา กปน. ยังพบกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของน้ำหลังความผันผวนของฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูแล้งที่ยาวนานและรุนแรงขึ้น
โดยในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูแล้งและต้นฤดูกาลของการจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค นายรักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการ กปน. สายงานผลิตและส่งน้ำ ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำ ได้เปิดเผยว่า กปน. ได้เผชิญกับระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
โดยค่าคลอไรด์ในน้ำประปาวันที่ 17 ธันวาคม ณ สถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี อยู่ที่ระหว่าง 20 - 294 มิลลิกรัมต่อลิตร และค่านำไฟฟ้าอยู่ที่ระหว่าง 323 - 1,305 หน่วย ซึ่งค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือความนำไฟฟ้า ประมาณ 1,200 หน่วย หากค่าเกินไปกว่านี้ อาจจะส่งผลต่อรสชาติได้ แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
กปน. เผชิญน้ำทะเลหนุนสูงของเดือนเดียวกันอีกระลอกในระหว่างวันที่ 21-24 ธันวาคม ก่อนจะเจอการรุกคืบของน้ำเค็มที่เข้มข้นขึ้นอีกครั้งในเดือนมกราคม โดยค่าความเค็มสูงสุดที่วัดได้ที่สำแลอยู่ที่ 1.1 กรัมต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร
การรุกคืบของน้ำเค็ม
จากการเปิดเผยของนายรักษ์ศักดิ์ น้ำเค็มได้รุกคืบขึ้นไปถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำดิบตั้งต้นของการผลิตน้ำประปาให้กับเขตเมืองหลวงเป็นครั้งแรกๆ ในปี 2557 และหลังจากนั้น ในปีต่อๆ มา ก็พบน้ำเค็มขึ้นไปถึงจุดดังกล่าวเป็นระยะๆ แม้จะอยู่ห่างจากปากแม่น้ำเกือบ 100 กิโลเมตร
“น้ำเค็มเริ่มรุกลึกเข้าไปในแม่น้ำช่วงปี 2557 แต่ตอนนั้น มันไม่ได้เค็มขนาดนี้ ปี 58 ก็เข้าไปช่วงสั้นๆ ไม่กี่วัน แต่ปีนี้แล้งมาเร็ว เราจึงเริ่มเจอเหตุการณ์ตั้งแต่ธันวาคม” นายรักษ์ศักดิ์กล่าว
นายรักศักดิ์กล่าวว่า ณ เวลานี้ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุว่าเป็นเรื่องของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์โลกร้อนหรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีข้อมูลทางวิชาการที่มากขึ้นที่ระบุถึงการผันผวนของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งในปีนี้พบว่า มีปริมาณน้อย และนั่นอาจหมายถึงการผลักดันน้ำเค็มที่อาจมีประสิทธิภาพน้อยลง นายรักษ์ศักดิ์ระบุ
ตามกระบวนการผลิตน้ำอุปโภคและบริโภคของ กปน. ให้กับผู้อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร, กปน.จะเข้าร่วมประชุมพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารับการจัดสรรโควตาน้ำต้นทุนที่จัดการโดยกรมชลประทาน ซึ่งจะมีการปล่อยน้ำมาให้จาก 2 ส่วนคือ เขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและทางภาคเหนือตอนบน และเขื่อนทางฝั่งตะวันตก
โดยเขื่อนใหญ่สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีอยู่ 4 เขื่อนหลักๆ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก ซึ่งมีน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ประมาณ 5,400 ล้าน ลบ.ม.
น้ำจำนวนนี้ เพียงพอแค่สำหรับ 3 กิจกรรมแรกคือ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ รวมทั้งการรุกของน้ำเค็ม และการสำรองน้ำในต้นฤดูฝน โดยทางคณะกรรมการได้พิจารณาจัดสรรน้ำจำนวนนี้ให้ กปน. ราว 900 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากน้ำจากเขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว กปน. ยังจะได้รับน้ำดิบจากเขื่อนทางตะวันตกอีกราว ๆ 360 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาให้คนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง
เมือน้ำถูกปล่อยลงมาจากเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท และเขื่อนพระราม 6 จะไหลลงมาถึงจุดรับน้ำดิบที่สำแล ซึ่งจะถูกดึงเข้าสู่คลองประปาและผ่านการบำบัดตามมาตรฐาน WHO ก่อนจะถูกลำเลียงไปยังโรงผลิตและจ่ายน้ำ ซึ่ง มีอยู่ 3 โรง รวมทั้งที่บางเขน สามารถผลิตนำประปาได้วันละประมาณ 4 ล้านลิตร
ส่วนทางตะวันตกมี 2 โรง ผลิตน้ำสำหรับคนนั่งตะวันตกได้อีกวันละ 1.6 ล้านลิตร
นายรักษ์ศักดิ์ยอมรับว่า กปน. สามารถบำบัดและกรองสารเคมีและเชื้อโรคต่างๆ แต่ไม่สามารถกรองความเค็มได้
อย่างไรก็ตาม นายรักษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ร่างกายของคนเราสามารถรับความเค็มได้วันละไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมตามเกณฑ์ของ WHO ซึ่งในการดื่มน้ำโดยเฉลี่ยวันละ 2-3 ลิตร จะทำให้ร่างกายได้รับความเค็มเข้าไปประมาณ 300 มิลลิกรัมเท่านั้น ซึ่งยังเป็นค่าที่ต่ำกว่าค่าที่กำหนดและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
แต่หากเป็นผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคไตและอื่นๆ อาจควรต้องหลีกเลี่ยงความเค็มจากแหล่งต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์
บรรเทาผลกระทบ
เพื่อลดผลกระทบจากความเค็มของน้ำดิบ, นายรักษ์ศักดิ์กล่าวว่า ทางกปน. ได้พยายามบริหารจัดการน้ำดิบโดยการหลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าคลองประปาในช่วงเวลาที่ค่าความเค็มขึ้นสูง ซึ่งนายรักษ์ศักดิ์กล่าวว่า เกิดขึ้นเพียงบางช่วงเวลา ราวๆ 2-3 ชั่วโมง
ในปีนี้ ทาง กปน. ได้ทดลองผลักดันน้ำเค็มร่วมกับทางกรมชลประทานเพื่อรับมือกับน้ำทะเลที่ขึ้นสูงและมีความเค็มขึ้น โดยวิธี Water Hammer ซึ่งเป็นการปล่อยมวลน้ำจากเขื่อนให้ไหลกระแทกน้ำกร่อยเพื่อผลักดันความเค็มลงไปให้ห่างจากจุดรับน้ำดิบ โดยวิธีนี้ได้ทดลองใช้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถผลักดันน้ำเค็มไปไกลได้กว่า 5-6 กิโลเมตรจากจุดรับน้ำดิบ
อย่างไรก็ตาม ทาง กปน. ได้พิจารณาแนวทางในระยะกลางและระยะยาวเพื่อเสริมเสถียรภาพในการผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงคนกรุงเทพมหานคร โดยมีความคิดที่จะขยับจุดรับน้ำดิบขึ้นไปเหนือน้ำอีกไม่ต่ำกว่า 20 กิโลเมตรเพื่อหนีน้ำเค็ม
นอกจากนั้น กปน. เตรียมดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ภายใน ปี 2567 ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์มูลค่าการลงทุนกว่า 42,750 ล้านบาท ซึ่งจะมีแผนขยายระบบอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อส่งน้ำประปาลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก ซึ่งเมื่อ กปน. ลดกำลังการผลิตฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะสามารถผันน้ำประปาจากอีกฝั่งหนึ่งมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติ รวมทั้งประกอบการขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตน้ำประปาจากแหล่งที่มีเสถียรภาพกว่าคือฝั่งตะวันตกได้อีกวันละ 800,000 ลูกบาศก์เมตร
“อยากให้คนเข้าใจสถานการณ์ อยากให้ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และที่สำคัญคือใช้น้ำอย่างมีค่าและให้คุ้มค่า” นายรักษ์ศักดิ์กล่าว