‘จีน’ ปล่อยก๊าซคาร์บอนลด หลัง ‘โควิด-19’ ระบาด
ผลการวิจัยล่าสุด พบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ส่งผลให้จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง ถือเป็นข่าวดีสำหรับการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (ซีอาร์อีเอ) ในฟินแลนด์ เผยแพร่ผลการศึกษา เมื่อวันพุธ (19 ก.พ.) พบว่า จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างน้อย 100 ล้านเมตริกตันในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 6% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
โรคโควิด-19 ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 จนคร่าชีวิตชาวจีนไปแล้วกว่า 2,000 คน และมีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศกว่า 74,000 คน ทำให้ความต้องการใช้ถ่านหินและน้ำมันในจีนลดลง ซึ่งส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงอย่างมาก
บรรดานักวิจัยพบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ กำลังการผลิตรายวันของโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนลดลงต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การผลิตโลหะลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี
รายงานของซีอาร์อีเอชี้ว่า ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำเข้าและบริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่การผลิตที่โรงกลั่นน้ำมันในมณฑลซานตง ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของจีน กลับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงหรือช่วงเดือน ก.ย.- พ.ย. 2558
ปกติแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนจะฟื้นตัวในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. แต่ในปีนี้ รัฐบาลจีนได้ขยายวันหยุดต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ในหลายภูมิภาคของประเทศ รวมถึงนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อให้ประชาชนได้เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน และลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19
“มาตรการควบคุมไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมสำคัญลดลง 15-40%” รายงานระบุ “สถานการณ์นี้ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงราว 1 ใน 4 หรืออาจจะมากกว่านั้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ดี บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเตือนว่า ตัวเลขที่ลดลงนี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ “ชั่วคราว” เท่านั้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่จะเร่งฟื้นฟูการผลิตในกลุ่มผู้ก่อมลพิษรายใหญ่อาจทำให้ผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมหายไปในที่สุด
“เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสซาลง เราคงจะได้เห็นการก่อมลพิษชดเชยระลอกใหม่ เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเร่งกำลังผลิตสูงสุดเพื่อชดเชยความสูญเสียในช่วงที่ต้องปิดโรงงาน” นายหลี่ ซัว ที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายของกลุ่มกรีนพีซ จีน ระบุ
ขณะเดียวกัน การปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการสันดาปเชื้อเพลิงของยานพาหนะและโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ลดลงถึง 36% ในช่วง 1 สัปดาห์หลังเทศกาลตรุษจีน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว