50 วัน มาตรการไทยชะลอ 'ไวรัสโคโรน่า' (โควิด-19) ระบาดวงกว้าง

50 วัน มาตรการไทยชะลอ 'ไวรัสโคโรน่า' (โควิด-19) ระบาดวงกว้าง

ย้อนรอย 50 วัน มาตรการไทยสกัดไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ชะลอการแพร่ระบาดในประเทศวงกว้างไว้ได้นานกว่าอีกหลายประเทศ

ในขณะที่หลายประเทศนอกจากประเทศจีน อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีรายงานการระบาดของโรคโควิด-19เกิดขึ้นภายในประเทศเป็นวงกว้าง แต่สำหรับประเทศไทย แม้จะถูกประเมินความเสี่ยงว่าเป็นเบอร์ 1 ที่จะเกิดการระบาด เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก และเป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาคนี้ ตลอด 50 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยดำเนินการอย่างไรบ้างถึงยังคงสามารถชะลอสถานการณ์ให้อยู่ในระดับที่ "มีการระบาดในประเทศวงจำกัด"ไว้ได้ เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆในการรับมือกับการระบาดเข้าสู่ระยะถัดไปในอนาคต 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือโรคโควิด-19(COVID-19)ว่า ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคนี้เป็นเวลารวม 50 วัน อยากจะชี้แจงให้เห็นว่าประเทศไทยดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยพิจารณาตามวัน

เริ่มจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ประเทศจีนรายงานโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ

วันที่ 3 มกราคม 2563 ประเทศไทยเริ่มคัดกรองผู้โดยสารเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนต้นตอการระบาด

วันที่ 4 มกราคม 2563 เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือศูนย์อีโอซี(EOC)

วันที่ 8 มกราคม 2563 คัดกรองพบนักท่องเที่ยวจีนมีไข้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

วันที่ 13 มกราคม 2563 แถลงข่าวพบผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 รายแรกในประเทศไทยและเป็นรายแรกนอกประเทศจีน

158235718821
วันที่ 15 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยยืนยันที่เป็นคนไทยรายแรก โดยเดินทางกลับจากประเทศจีน

วันที่ 22 มกราคม 2563 เปิดศูนย์อีโอซีกระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 27 มกราคม 2563 นายกรัฐมนตรีแถลงยกระดับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี(PMOC)

วันที่ 30 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทยเป็นรายแรกที่ไม่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ระบาด โดยเป็นคนมีอาชีพขับรถแท็กซี่และมีประวัติรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

วันที่ 31 มกราคม 2563 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับ "การคัดกรองที่สนามบิน" มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 มีการปรับเพิ่มเกณฑ์การเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น โดยวันที่ 27 มกราคม 2563 ปรับนิยามการเฝ้าระวังจากไข้ 38 องศาเซลเซียสเป็นไข้ 37.5 องศาเซลเซียส

 รวมถึง การปรับเพิ่มเกณฑ์เพื่อคัดกรองผู้ป่วยภายในประเทศ โดยวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 เพิ่มการเฝ้าระวังในผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไป ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และภูเก็ต

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ขยายพื้นที่เสี่ยงในการคัดกรองผู้เดินทางผ่านสนามบินครอบคลุมประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ด้วย นอกเหนือจากประเทศจีน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ขยายพื้นที่เฝ้าระวังครอบคลุมประเทศเกาหลีใต้

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 จับตาพิเศษประเทศอิตาลี หากพบสถานการณ์ระบาดมากขึ้น ยกระดับการเฝ้าระวังทันที

และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 จะมีการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อพิจารณาการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ของประเทศไทย  

จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังสะสมตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม -21 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 1,252 ราย กลับบ้านแล้ว 1,006 ราย พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 246 ราย และมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 35 ราย หายดีกลับบ้านแล้ว 20 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย

ทั้งนี้ กลไกการทำงานที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ การมีคนทำงานที่ยืนหยัดทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค มาตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันที่เรียกว่า "มดงานนิรนาม" ที่ทำงานอยู่ในทุกภาคส่วน 

ที่สำคัญที่สุด การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่สถานที่ต่างๆมีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อมากขึ้น มีการจัดหาเจลแอลกอฮอล์วางไว้ตามจุดให้สะดวกในการล้างมือ คนไทยที่ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อป่วย หรือใส่ชนิดผ้าเพื่อป้องกันตนเอง ล้างมือบ่อยๆเป็นการป้องกันการนำมือที่อาจปนเปื้อนเชื้อมาโดนใบหน้าซึ่งจะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายจากทางตา จมูกและปาก และกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง