'หอการค้าไทย' เปิดเวทีวันนี้ ดึงธุรกิจถกสู้วิกฤตโควิด-19
หอการค้าไทยเปิดเวที ถกหาทางออกแก้วิฤตโควิด-19 วันนี้ (9 มี.ค.) ดึงธุรกิจทุกภาคส่วนร่วมแสดงความเห็นหวังนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ระบุไม่ควรรอรัฐออกมาตรการฝ่ายเดียว รับยังไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์คลี่คลายเมื่อไหร่
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้( 9 มี.ค.) หอการค้าไทยได้จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการ( workshop) “ไทยช่วยไทย : โอกาสจากวิกฤต COVID-19” ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทั้งระยะเร่งด่วน ปานกลาง และระยะยาวพร้อมให้ความเห็น เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับภาคธุรกิจและประเทศโดยรวม เพราะผลกระทบจากโควิด –19 มีต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรและส่งออก รวมถึงภาคบริการด้วย
โดยผลกระทบหลักๆเกิดขึ้นกับตลาดจีนทั้งผลด้านการค้าเพราะจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และผลกระทบด้นการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่รวมประเด็นที่คนไทยเองก็ไม่กล้าวออกมาท่องเที่ยวแม้จะมีมาตรการจูงใจ ความพยายามสร้างความมั่นใจก็ตาม ทั้งที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรปที่ยังสนใจท่องเที่ยวไทยอยู่
อ่านข่าว-'เอไอเอส' สู้ 'โควิด-19' วีดีโอ คอล ไทย-สิงคโปร์
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาร่วม workshop ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจที่พัก โรงแรม รีสอร์ท กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ฟู๊ดส์ดิลิเวอรี่ กลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ภัตตาคาร กลุ่มธุรกิจสายการบิน เช่น ไทยสมายล์ นกแอร์ เวียดเจ็ท กลุ่มธุรกิจบันเทิง กลุ่มธุรกิจการเดินทาง
กลุ่มธุรกิจบริการ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มธุรกิจสุขภาพ ความงาม และสปา ซึ่งเชื่อว่าผลการ workshop จะทำให้เกิดแนวทางหรือมาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บ้างเพราะขณะนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อย่าให้รัฐบาลทำเพียงฝ่ายเดียว โดยผลการประชุมภาคธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพยุงให้ธุรกิจผ่านสถานการณ์ที่ยากนี้ไปได้
ว่าที่รอ.จิตร์ ศิริธรานนท์ รองประธานหอการค้าไทยและประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบกันหมด และจนถึงขณะนี้และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไร
ผลกระทบที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด คือภาคการท่องเที่ยว ที่กระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ทั้งธุรกิจที่พัก ธุรกิจบริการ โดยภาคท่องเที่ยวถือเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญของไทย นอกเหนือจากภาคส่งออก ภาคการค้า ภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น เมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 มาก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์แย่ลงไปอีก
สำหรับแนวทางที่จะลดผลกระทบจากโควิด-19 มีหลายเรื่องซึ่งทางรัฐบาลก็ออกมาตรการมาทั้งเรื่องภาษี แต่ที่น่าสนใจคือมาตรการของประเทศเพื่อนบ้านที่ออกมาคือ การอุดหนุนผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มต้องเลิกจ้างแรงงานเพราะไม่คำสั่งผลิตสินค้า รัฐบาลก็ออกมาตรการช่วยไม่ให้มีการเลิกจ้าง ด้วยการอุดหนุนงบประมาณไปช่วยจ่ายเงินเดือนแทนในช่วงวิกฤตนาน 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตก็ยังมีโอกาส เมื่อประชาชนกังวลต่อสถานการณ์ ไม่ออกไปท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย อยู่ภายในบ้าน รัฐควรส่งเสริมธุรกิจออนไลน์และจัดส่งสินค้าเพื่อให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตอย่างเข้มแข็งได้ต่อไป
ว่าที่ รอ.จิตร์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องพึงระวังในขณะนี้คือการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องใช้อย่างคุ้มค่า หากใช้ไม่ระมัดระวังและไม่สนใจผลที่ย้อนกลับมาก็จะยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
ดังนั้นรัฐบาลจะมีมาตรการออกมาก็ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อใช้เม็ดเงินให้คุ้ม เช่น มาตรการชิม ช้อปใช้ หากทำต่อไปแล้วคนไม่ออกมาใช้ก็จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่คงไม่มีปัญหา