อย่าสับสน! 'COVID-19' กับ 'ไข้เลือดออก' ต่างกันอย่างไร?
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคไข้เลือดออกระบาด ในช่วงเวลาเดียวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ทำให้มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะตรวจผิดพลาด เนื่องจากอาการของทั้งสองโรคมีความใกล้เคียงกัน
วารสารแลนเซ็ต เผยแพร่รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์ ระบุว่า การแยกความแตกต่างระหว่างโรคไข้เลือดออกกับโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากทั้งสองโรคมีลักษณะทางคลินิกและห้องทดลองปฏิบัติการคล้ายคลึงกัน และหากผลตรวจไข้เลือดออกเป็นบวก แพทย์มักสรุปก่อนว่าเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่ไข้เลือดออกระบาด เพราะฉะนั้นการมีชุดตรวจไวรัสโคโรน่าที่เชื่อถือได้ พร้อมใช้ และราคาไม่แพงทั่วถึงทั้งภูมิภาค จึงมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำ ทั้งยังเป็นการปกป้องประชาชนในวงกว้างด้วย
รายงานชิ้นนี้ ได้ยกตัวอย่างชาวสิงคโปร์สองคนที่พบเชื้อไข้เลือดออกจากการตรวจทางเซรุ่มวิทยา แต่หลังจากนั้นพบว่าติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคโควิด-19 โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง แต่มีอาการไข้และไอ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า โรคที่เกิดจากไวรัสทุกอย่างมีความคล้ายกันมาก เช่น อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ที่พบได้ทั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา หรือไข้ชิคุนกุนยา
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า ไวรัสไข้เลือดออกและไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอของโรคโควิด-19 แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้อาการเบื้องต้นจะคล้ายกัน แต่จะแยกแยะได้เมื่อมีการดำเนินโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งตรวจตามข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ป่วย
ขณะที่สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นไอเอช) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่ระบุว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สามารถอยู่บนพื้นผิวพลาสติกและสแตนเลสได้นานสูงสุดถึง 3 วัน
ทั้งนี้ นักวิจัยได้เปรียบเทียบความเสถียรบนพื้นผิวของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ซึ่งก่อโรคโควิด-19 กับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคซาร์ส โดยพบว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สามารถอยู่ได้บนพื้นผิวทองแดงสูงสุด 4 ชั่วโมง อยู่บนกระดาษแข็งได้ 24 ชั่วโมง ขณะที่อยู่บนพลาสติกและสแตนเลสได้ 2-3 วัน
นอกจากนี้ เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ยังสามารถอยู่ในละอองของเหลวสูงสุด 3 ชั่วโมง
ส่วนผลศึกษาโดยทีมนักระบาดวิทยาของรัฐบาลจีน พบว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ล่องลอยอยู่ในอากาศได้อย่างน้อย 30 นาทีและเดินทางกระจายไปไกลถึง 4.5 เมตร มากกว่าระยะปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลก แนะนำให้อยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ 1-2 เมตร
นักวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวันบนวัตถุที่มีฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจตกลงบนพื้นผิว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหากมีใครสัมผัสฝอยละอองบนวัตถุแล้วไปสัมผัสใบหน้า แต่ระยะเวลาที่เชื้ออยู่บนวัตถุขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ และชนิดของวัตถุ เช่น ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 2-3 วันบนแก้ว ผ้า โลหะ พลาสติก หรือ กระดาษ
ผลศึกษาชิ้นนี้ รวบรวมจากนักวิจัยในมณฑลหูเป่ย์ ที่สอบสวนโรคกรณีการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนหนึ่ง (cluster) เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ช่วงที่มีการเดินทางมากที่สุดเพื่อฉลองเทศกาลตรุษจีน ผู้โดยสารคนหนึ่งที่มีอาการป่วยและเดินทางด้วยรถบัสขนาด 48 ที่นั่งที่เป็นการเดินทางระยะไกล โดยนั่งแถวหลังสุดแถวที่สอง แบบไม่สวมหน้ากาก ผู้โดยสารส่วนใหญ่หรือคนขับก็ไม่สวมหน้ากาก โดยขณะนั้นจีนยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดเป็นวิกฤติระดับประเทศ
เนื่องจากจีนกำหนดให้รถโดยสารทางไกลทุกคันต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด คลิปที่ได้จึงเป็นประโยชน์มากสำหรับนักวิจัยในการศึกษาวิธีการแพร่เชื้อในรถบัสที่ปิดหน้าต่างหมดทุกบาน จึงสามารถยืนยันได้ว่าในสภาพแวดล้อมแบบปิด มีเครื่องปรับอากาศ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะแพร่ได้ไกลกว่าในระยะปลอดภัยที่เข้าใจกัน นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ไวรัสอาจยังคงอยู่หลังจากที่พาหะลงจากรถบัสไปแล้ว
“คำแนะนำของเราคือสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในรถโดยสาร” นักระบาดวิทยากล่าวและระบุว่ากรณีนี้ ผู้ป่วย “เอ” ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับใครเลยตลอดการเดินทาง 4 ชม. แต่เมื่อรถคันเดียวกันจอดที่เมืองต่อไป ไวรัสได้แพร่จากพาหะ ไปยังผู้โดยสารคนอื่นอีก 7 ราย และไม่ใช่คนที่นั่งใกล้ แต่เป็นสามีภรรยาที่นั่งอยู่แถวที่ 6 ถัดจากเขา ซึ่งห่างออกไป 4.5 เมตร
หลังจากผู้โดยสารกลุ่มนี้ลงจากรถแล้ว 30 นาที มีผู้โดยสารขึ้นมาอีกกลุ่ม ปรากฎว่า ผู้โดยสารคนหนึ่งที่นั่งแถวหน้าคนละฝั่ง ก็ติดเชื้อด้วย นักวิจัยกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ซึ่งไม่ได้สวมหน้ากาก น่าจะสูดละอองฝอยเล็กๆ ที่ปล่อยออกมากับลมหายใจของผู้โดยสารติดเชื้อ เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะในพื้นที่ปิด การถ่ายเทอากาศหลักๆ มาจากอากาศร้อนจากเครื่องปรับอากาศ อากาศร้อนหอบละอองฝอยที่มีไวรัสไปไกลมากขึ้น