'ครม.ศก' เตรียมแผนรับโควิด - หวั่นทำเศรษฐกิจซึมยาว 

'ครม.ศก' เตรียมแผนรับโควิด - หวั่นทำเศรษฐกิจซึมยาว 

การระบาดของโรคโควิด - 19 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการในการพยุงเศรษฐกิจในระยะแรกแล้ว แต่นับจากนี้การหามาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเพื่อชะลอการทรุดตัวของเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งสำคัญ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจได้รายงานสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบมาโดยตลอดถึงสถานการณ์ของโควิด-19 ในแต่ละช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น เพื่อการประเมินเศรษฐกิจและหามาตรการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง

โดยในช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาดในประเทศจีนในมณฑลอู่ฮั่นช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งขณะนั้นใช้ระยะเวลาไม่นานก็มีจำนวนผู้ป่วยที่มากกว่าการระบาดของโรคซาร์ส สิ่งที่ได้มีการรายงานให้ ครม.และนายกรัฐมนตรีได้ทราบในการประชุมฯก็คือผลกระทบที่จะเกิดกับการท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนั้นก็มีการประเมินว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจไทย 3 เดือนโดยเฉพาะในภาคของการท่องเที่ยวก่อนที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูได้

ขณะที่การประเมินเศรษฐกิจในการประชุม ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ซึ่งมีการออกมาตรการเศรษฐกิจชุดแรกประเมินว่าผลกระทบของโควิด-19 คาดว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดภายในเดือน มิ.ย.และจะเข้าสู่การฟื้นฟูได้ในช่วงปลายปีนี้

เมื่อการแพร่ระบาดได้ขยายออกไปจากจีนไปสู่ประเทศอื่นๆ และส่งผลให้เริ่มกระทบกับภาคการผลิตซึ่งมีซัพพลายเชนในภาคการผลิต ซึ่งซ้ำเติมภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่มีปัญหาทำให้เศรษฐกิจในปีนี้มีความท้าทายมาก ดังนั้นที่เกี่ยวข้องกันในการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมาก็ได้มีการประเมินว่าการแพร่ระบาดของโรคนี้อาจจะสิ้นสุดในช่วงเดือน มิ.ย.หรือช่วงปลายไตรมาสที่ 2

จากนั้นจะเข้าสู่ระดับปกติของสถานการณ์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งในส่วนของประเทศไทยหากเป็นไปตามสมมติฐานนี้เศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคส่วนของการท่องเที่ยวก็จะเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งรัฐบาลก็จะมีมาตรการออกมาอีกชุดหนึ่งเพื่อช่วยให้การฟื้นฟูธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประกาศให้เป็นโรคระบาดรุนแรงทั่วโลกขณะที่ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสที่จะเข้าสู่การแพร่ระบาดในระยะที่ 3 ซึ่งก็จะทำให้นักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันยังมาไทยอยู่ประมาณ 50% ของปีก่อนจะหายไปเกือบ 100% 

เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปก็จะมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบได้แก่ท่องเที่ยวและโรงแรม และแรงงานที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องอีกมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ ครม.เศรษฐกิจต้องมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในการประชุมที่จะมีขึ้นอีกครั้งเร็วๆนี้คาดว่าภายในเดือน เม.ย.มาตรการชุดใหม่จะออกมาได้

ปีนี้เราต้องยอมรับผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศต่างๆจะมีการดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังมีอยู่มากและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

"เนื่องจากการระบาดเป็นลักษณะของการกระจายทั่ว หรือ Pandemic ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆจะเข้าสู่ภาวะถดถอยยังมีอยู่มากจึงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

158410347236

กอบศักดิ์ กล่าวว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจในครั้งต่อไปนอกจากการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยแล้วจะต้องเร่งออกมาตรการเพิ่มเติมโดยพุ่งไปที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่โควิด-19 แพร่ระบาดในระยะยาว เช่น ธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบมากจากการงดการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดของโรค ธุรกิจโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบจากการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองและปิดประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ก็จะมีการประเมินด้วยว่ามาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้จำนวน 14 มาตรการมีความเพียงพอและสามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระดับใดและต้องมีการเพิ่มมาตรการใดๆเข้าไปซึ่งก็จะมีการหารือกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้มากขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลมีการติดตามและประเมินโควิดที่จะเกิดกับเศรษฐกิจเป็นระยะ แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะนี้คือการแพร่ระบาดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งซึ่งนอกประเทศจีน  

"เหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องทำใจว่าผลกระทบกับเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในวงกว้างถือเป็นเวฟที่ 3 ของการระบาด และต้องเตรียมว่าถ้าโควิดจะอยู่กับเราทั้งปีรัฐบาลจะมีมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างไรออกมารองรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”