ส่องวิธีรับมือโควิด-19 หลังจีนไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม
เปิดเบื้องหลังมาตรการเข้มโดยรัฐบาลจีน เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรค "โควิด-19" จนสามารถหยุด "การติดเชื้อในประเทศ" ให้เป็น "ศูนย์" ได้ติดต่อกัน 3 วัน
หลังจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (เอ็นเอชซี) แถลงว่า ณ วันพฤหัสบดีที่ 19 มี.ค. จีนไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 รายใหม่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศแต่อย่างใด โดยมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น 39 ราย แต่ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากต่างประเทศ
ในจำนวนนั้น 14 รายถูกตรวจพบในมณฑลกวางตุ้ง, 8 รายในเซี่ยงไฮ้, 6 รายในปักกิ่ง, 3 รายในมณฑลฝูเจี้ยน และตรวจพบในเมืองเทียนจิน, เหลียวหนิง, เฮยหลงเจียง, เจ้อเจียง, ซานตง, กว่างซี, เสฉวน และกานซู เมืองละ 1 ราย และจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 19 มี.ค. มีรายงานพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 228 ราย
นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย โดย 2 รายในมณฑลหูเป่ย์ และ 1 รายในมณฑลเหลียวหนิง และผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีก 31 ราย ขณะที่ผู้ที่ได้รับการรักษาจนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้มีทั้งสิ้น 730 ราย และผู้ป่วยอาการรุนแรงลดลง 178 ราย เหลือเพียง 2,136 ราย
ณ วันพฤหัสบดีที่ 19 มี.ค. จีนรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศทั้งสิ้น 80,967 ราย โดยเป็นผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษา 6,569 ราย และผู้ที่ถูกปล่อยตัวหลังได้รับการรักษาแล้ว 71,150 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีทั้งสิ้น 3,248 ราย และเอ็นเอชซี ยังรายงานด้วยว่า มีประชาชน 104 รายยังคงรอผลการตรวจว่าติดโรคโควิด-19 หรือไม่
รายงานข้างต้นเป็นข่าวดี และถือเป็นความสำเร็จในการรับมือกับไวรัสร้ายชนิดนี้ของทางการจีน มีข้อน่าสังเกตว่า จีน ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดและจริงจังจึงทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบนี้ กล่าวคือ หลังจากจีนเริ่มพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ สิ่งที่ทำเป็นอย่างแรก คือ การประกาศปิดมณฑลหูเป่ย์ ซึ่งรวมถึงเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. กักตัวประชาชน 60 ล้านคน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ ซึ่งผลวิจัยบ่งชี้ว่า มาตรการที่จีนใช้ ช่วยชะลอการแพร่ระบาดไปนอกประเทศได้จริง โดยลดการเดินทางของเชื้อไวรัสลงได้ถึง 80%
ผลวิจัยบ่งชี้ว่า มาตรการที่จีนใช้ ช่วยชะลอการแพร่ระบาดไปนอกประเทศได้จริง โดยลดการเดินทางของเชื้อไวรัสลงได้ถึง 80%
ต่อมา จีนใช้มาตรการเชิงรุกด้วยการ "สร้างโรงพยาบาลฉุกเฉิน" ขึ้นมาภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากทั่วประเทศ ไปยังศูนย์กลางการแพร่ระบาด ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งทุ่มงบประมาณทั้งหมดไปกับการติดตามผู้ใกล้ชิด ผู้สัมผัสกับผู้ป่วย เฉพาะในเมืองอู่ฮั่นเพียงเมืองเดียว มีทีมงานมากกว่า 1,800 ทีม คอยติดตามประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ว่านี้
มาตการเชิงรุกต่อมาคือ สั่งยกเลิกงานใหญ่ ๆ ทั้งหมด เช่นการแข่งขันกีฬา สั่งปิดโรงละคร โรงภาพยนตร์ ขยายระยะเวลาปิดเทอมออกไป สั่งปิดโรงงาน ร้านค้า และขอให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน
ที่สำคัญอีกอย่างคือ จีนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น ใช้ "แอพลิเคชั่นจ่ายเงิน" อย่างอาลีเพย์หรือวีแชท เป็นเครื่องมือช่วยติดตามพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของประชาชน รวมทั้งยับยั้งไม่ให้ประชาชนเดินทาง และการเป็นสังคมไร้เงินสดของจีนก็ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง
หากประเทศส่วนใหญ่ปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ เหมือนจีน และทำให้การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวาระสำคัญระดับชาติ สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของเชื้อไวรัสชนิดนี้ จะสามารถควบคุมได้ภายในเดือนมิ.ย.
ส่วนนักวิทยาศาสตร์ของจีนก็ทำงานไปควบคู่กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล จนทำให้ในที่สุด นักวิทยาศาสตร์จีนสามารถสรุปได้ว่า 80% ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการปรากฏให้เห็นแค่เล็กน้อยไปจนถึงอาการปานกลาง มีแค่ 13.8% ที่มีอาการหนัก และมีเพียง 6.1% ที่มีอาการหนักมากจนเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจหรืออวัยวะล้มเหลว
ขณะที่ “จง หนานซาน” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจชื่อดังชาวจีน ให้ความเห็นว่า หากประเทศส่วนใหญ่ปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ เหมือนจีน และทำให้การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวาระสำคัญระดับชาติ สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของเชื้อไวรัสชนิดนี้ จะสามารถควบคุมได้ภายในเดือนมิ.ย.
“ผมทราบมาว่าบางประเทศได้ดำเนินการเป็นอย่างดี ส่วนบางประเทศก็ยัง บางประเทศเตือนประชาชนของตนให้ระแวดระวังไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ไม่ให้มองว่าเป็นเพียงไข้หวัด ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์การควบคุมในระดับโลกของจีนนั้น อิงกับมาตรการเชิงบวกที่ประเทศเหล่านั้นได้ดำเนินการ แต่หากโลกไม่ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการกำจัดภัยคุกคามและภาวะติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสนี้ด้วยมาตรการแทรกแซงต่าง ๆ กรอบเวลานี้ก็อาจขยายออกไปอีก” จง กล่าว