วิกฤตหมอก (ฝุ่น) ควันภาคเหนือ ใครรับผิดชอบ? I Green Pulse
สถานการณ์ฝุ่นควันภาคเหนือรุนแรงขึ้นในปีนี้ สาเหตุยังมาจากการเผาพื้นที่เกษตรและป่าไม้ทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่รัฐให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาน้อยเกินไป ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศระบุ
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษที่ใช้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 ซึ่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ระบุชัดว่า หากค่าดัชนีคุณภาพอากาศ มีค่า 100-200 ประชาชนทั่วไป “ควรเฝ้าระวังสุขภาพ” หรือเป็นค่า "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” (PM2.5 51-90 มคก./ลบ.ก.) และหากค่าเกิน 200 “ทุกคน” ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเป็นค่า "มีผลกระทบต่อสุขภาพ" (PM2.5 <90 มคก./ลบ.ม)
หากตลอดระยะเวลาเกือบสองอาทิตย์ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมเป็นต้นมา ประชาชนใน 9 จังหวัดภาคเหนือกลับได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไฟป่าและหมอก(ฝุ่น)ควันที่เกิดขึ้นจากการเผาในพื้นที่และที่ลอยข้ามพรมแดนมาจากประเทศบ้านอีกครั้ง ส่งผลให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศพุ่งขึ้นสูงเกิน 400 หลายวัน และที่สำคัญคือ ค่าฝุ่นฯ PM2.5 ที่พุ่งสูงทำลายสถิติในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ที่มีค่าฝุ่นฯ PM2.5 เกินกว่าค่าวิกฤติที่ 100 มคก./ลบ.ม. ถึงกว่า 3 เท่า
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศหลายท่าน รวมทั้ง อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นฯ PM2.5 ของสภาผู้แทนฯ ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการรับมือกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือของรัฐบาลที่กำลังถูกรุมเร้าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหานี้น้อยเกินไป และไม่เป็นไปตามแนวทางของแผนฯ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติว่าด้วยเรื่องฝุ่นฯ ที่ได้ผลักดันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆ มา
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจพบว่า ค่าฝุ่นฯ PM2.5 ทางภาคเหนือ เกิดขึ้นเป็นระลอกในปีนี้ นับตั้งแต่กลางเดือนมกราคม และปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่ค่าฝุ่นฯ จะขยับสูงขึ้น จนกระทั่งเกินกว่า 300 มคก./ลบ.ม. ราวสองสัปดาห์ที่แล้ว
ฝุ่นควันภาคเหนือมาจากไหน
จากการประมวลของคณะจัดทำ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตั้งแค่ปลายปีที่แล้ว พบว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือมีสาเหตุหลักๆ มาจากการเผาในที่โล่ง (พื้นที่เกษตรและในชุมชน) และการเผาป่าทั้งจากในและนอกประเทศ
โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ที่ได้มีการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ประเทศไทยจากดาวเทียมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม พบจุดความร้อนสะสม (Hotspot) ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่ขยับขึ้นลงระหว่างเกือบห้าพันจุดถึงหนึ่งหมื่นจุด นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปีที่ผ่านมา โดยปีที่ผ่านมา หรือปี 2562 มีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2561 ที่ลดลงไปต่ำสุดที่ 4,717 จุด มาเป็น 10,217 จุด ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในระหว่างช่วงปีดังกล่าว
และในปีนี้ พบว่า ค่าจุดความร้อนสะสมในพื้นที่กำลังไต่ระดับ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 5 มีนาคม พบว่า มีจำนวนถึง 3,136 จุดแล้ว
ในขณะเดียวกัน จำนวนจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยคือ กัมพูชา พม่า และลาว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ที่มากกว่าจำนวนจุดความร้อนสะสมรวมของประเทศไทยทั้งหมด (14,565 ( ปี2561)-16,006 (ปี 2560)) เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเกือบหนึ่งเท่าถึงสามเท่า
โดยจำนวนจุดความร้อนในพม่ามีมากที่สุดคือ 48,041 จุด ในปี 2560 และ 41,204 จุดในปี 2561, ตามด้วยประเทศลาว ที่ 28,496 จุด และ 27,417 จุดในเวลาเดียวกัน (ส่วนกัมพูชาจะพบจุดความร้อนสะสมที่ 20,8901 และ 23,106 จุด)
แผนขับเคลื่อนวาระฝุ่น ฯ
แม้จะพบปัญหาฝุ่นควันคล้ายๆกันกับในพื้นที่ภาคอีสาน หากแต่พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชัน เป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหา ได้ถูกหยิบยกให้เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญในแผนฯ และมีแนวทางแก้ไขปัญหาระบุไว้เฉพาะสำหรับพื้นที่ นอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยการควบคุมการเผาในที่โล่ง การเผาป่า และการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนถูกระบุให้เป็นแนวทางหลัก โดยมีกลไก single commanding ของผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ในแผนฯ ดังกล่าว ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากฝุ่นฯ ในช่วงวิกฤต คือระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน สูงขึ้นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. อย่าง “ต่อเนื่อง” แนวทางปฏิบัติคือ "กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยจะต้องนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดของหน่วยงานต่างๆต่อไป” แผนฯระบุ
อาจารย์สนธิ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับทางกรุงเทพธุรกิจและสาธารณะผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวของตนเมื่อเร็วๆนี้ว่า สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นฯ PM 2.5 ในภาคเหนือถือว่ากำลังเข้าขั้นวิกฤติ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก
แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ กล่าวคือ ลมตะวันตกและลมตะวันออกพัดนำหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่ ประกอบกับความกดอากาศกดทับปกคลุมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันอย่างหนัก แต่กลับพบว่า รัฐบาลที่กำลังรับมือกับปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ความสนใจกับปัญหาฝุ่นควันที่จังหวัดภาคเหนือน้อยลงมาก ทั้งที่มีค่าความเข้มเข้นสูงกว่าที่เกิดขึ้นในเขตกทม.และปริมณฑล ถึง 3-4 เท่า
แม้จะพบว่าฝุ่นฯ PM2.5 ไต่ระดับเกินกว่าค่าวิกฤตที่ 100 มคก./ลบ.ม. มาอย่างต่อเนื่องกว่าสองสัปดาห์แล้ว แต่กลับไม่มีการเสนอวาระสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการจัดการปัญหาโดยเร่งด่วนเพื่อนำเสนอ ครม.ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการต่อไป
ในทางกลับกัน กลับปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็น single command สั่งการและจัดการเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ซึ่งอาจารย์สนธิมองว่า มีข้อจำกัด เนื่องจากไฟป่าส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือกรมป่าไม้
นอกจากนี้ ยังมีไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จำเป็นต้องอาศัยการเจรจาระดับรัฐบาล ซึ่งก็ไม่สามารถรับประกันได้เช่นกันว่าจะสำเร็จ ทั้งนี้ เนื่องจากมีหลายกลุ่มที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลกลาง
“หากปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่าสูงเหมือนที่เกิดขึ้นที่เชียงรายไปเกิดในกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศ หน่วยงานรัฐส่วนกลางคงจะเร่งประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หามาตรการจัดการอย่างเร่งด่วนและรีบนำเข้าครม.เพื่อให้สั่งการแก้ไขปัญหาทันที แต่กลับกัน กรณีนี้ไปเกิดที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนเมืองภูมิภาค ดังนั้นทุกอย่างจึงเงียบกริบ ปล่อยให้พื้นที่และประชาชนไปว่ากันเอง,” อาจารย์สนธิตั้งข้อสังเกต
อธิบดีอรรถพลตรวจพื้นที่ไฟป่าภาคเหนือ
ใครเผาป่า?
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) พบว่า ในปี 2561 จุดความร้อนสะสมในพื้นที่เกษตร มีมากถึงร้อยละ 50 จากจำนวนจุดความร้อนทั้งหมด 14,565 จุด รองลงมาเป็นพื้นที่ สปก. ร้อยละ 19 พื้นที่ชุมชนร้อยละ 11 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ร้อยละ 10 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 8 และพื้นที่ริมทางหลวง ร้อยละ 2
ในปีนี้ กรมป่าไม้ พบว่า จุดความร้อนสะสมประจำปีงบประมาณ 2563 นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ค่าบันทึกล่าสุดที่วันที่ 16 มีนาคม พบว่า จุดความร้อนสะสมรวมทั้งประเทศจากดาวเทียม MODIS ที่จับขนาดจุดความร้อนที่ 50 ตารางเมตรขึ้นไปได้ มีอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 23,119 จุด โดยจุดความร้อนสะสมที่อยู่ในเขตป่าและนอกเขตป่ากลับมีสัดส่วนไล่ๆกัน โดยจุดความร้อนนอกเขตป่า ซึ่งส่วนใหญ่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ประมาณ 59% และจุดความร้อนในเขตป่าสงวนและอนุรักษ์รวมกันอยู่ที่ประมาณ 34% และพื้นที่เกษตรในเขตป่าอีก 7% รวมเป็นพื้นที่ในเขตป่าทั้งสิ้นราว 41% ซึ่งส่วนใหญ่คือพื้นที่ทางภาคเหนือ
อธิบดีกรมป่าไม้ อรรถพล เจริญชันษา สะท้อนภาพไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือผ่านจำนวนคดีที่เกิดขึ้นว่า การดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้กว่า 400 คดี เกือบครึ่งต่อครึ่งอยู่ในพื้นที่ป่า นั่นหมายความว่า แม้จะมีการป้องกันไฟป่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การลักลอบจุดไฟเผาป่าและพื้นที่เกษตรในป่ายังคงเกิดขึ้น
นายอรรถพลกล่าวว่า การจุดไฟเผาป่าเป็นไปตาม “รอบปฏิทินไฟป่า” ซึ่งสอดรับกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเข้าป่าเพื่อหาของป่า และเตรียมพื้นที่เกษตรเพื่อเพาะปลูกในรอบถัดไป
นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เกิดการ "จุดแกล้ง" ปรากฏเป็นคดี อาทิ ที่จังหวัดลำปาง เป็นต้น ซึ่งนายอรรถพลกล่าวว่า การจุดไฟเผาป่าเพียงคนๆเดียว สามารถสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้
“ก็ยังมีชาวบ้านที่ยังไม่เชื่อฟัง เข้ามาแอบจุด ถึงจะบอกว่าห้ามเผากันแล้วก็ตาม มันก็ยังมีคนที่ยังควบคุมไม่ได้ คนไม่ฟังคนเดียว ไล่จุดไฟได้หลายที่เลยนะ ดับตรงนี้ไปโผล่ตรงโน้นบ้าง เจ้าหน้าที่ก็ดับไม่ทัน” นายอรรถพลกล่าว
นายอรรถพลกล่าวว่า เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ทางการได้พยายามวางแผนป้องกันเหตุก่อนที่ฤดูกาลจะมาถึง โดยแบ่งพื้นที่จัดการเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่งหรือพื้นที่เกษตรในชุมชน ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ และกระทรวงมหาดไทยที่จะจัดระเบียบการเผาโดยมีการกำหนดวันห้ามเผาเหลื่อมกันไปในแต่ละจังหวัด ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากและยังต้องมีการจัดระเบียบกันอยู่
ส่วนพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ มักจะมีการลดปริมาณเชื้อเพลิงตามหลักการหรือการชิงเผาและการทำแนวกันไฟ ซึ่งในบางปีอาจเกิดการสะสมของเชื้อเพลิงในพื้นที่จำนวนมาก และเป็นส่วนหนึ่งของไฟป่าที่รุนแรงในบางพื้นที่ได้ ทั้งนี้ การห้ามเผาในพื้นที่ของรัฐเอง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของการชิงเผาลดลง นายอรรถพลกล่าว
ในช่วงเกิดเหตุ ทางกรมฯ ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยจากที่เคยใช้ภาพถ่ายจุดความร้อนจากดาวเทียมอย่าง MODIS ซึ่งสามารถจับจุดความร้อนในพื้นที่ตั้งแต่ขนาด 50 ตารางเมตรขึ้นไป ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมรุ่นใหม่ Viirs ซึ่งสามารถจับจุดความร้อนที่มีขนาดเล็กลงไปจนถึง 4 ตารางเมตร ทำให้สามารถเข้าถึงจุดความร้อน และระงับเหตุได้ก่อนและรวดเร็วขึ้น
แม้จะทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น รวมถึงการสนธิกำลังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอรรถพลยอมรับว่า ไฟป่ายังคงมีมากในพื้นที่ป่า เพราะยังคงมีการลักลอบจุดไฟเผาป่าโดยชาวบ้านที่ยังไม่ยอมเชื่อฟัง ซึ่งยังเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข
ทางหน่วยงานเองได้พยายามทำงานร่วมกับชาวบ้านให้ช่วยเฝ้าระวัง แต่ยังคงมีคนบางกลุ่มที่ยังลักลอบแอบเข้าไปจุดไฟเผาป่าไม่ว่าจะด้วยความขัดแย้งกับรัฐหรือความจำเป็น
“ประเด็นคือ จะทำยังไงให้คนในพื้นที่ช่วยกันดูแลไม่ให้มีการเข้าไปจุดไฟเผาป่า คนที่ไม่เคารพกติกา หรือคนที่จุดไฟโดยไม่รับผิดชอบ คนที่จำเป็นต้องจุดก็ไม่ว่า แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย” นายอรรถพลกล่าวทิ้งท้าย
ภาพ/ เจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ เข้าดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือที่ปะทุอยู่เป็นระยะ/ เฟสบุ๊คเพจ คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้
(อ่าน/ ไฟป่าภาคเหนือที่คุกรุ่น)