หมอชง 'ล็อกดาวน์' ทุกจังหวัด ชี้ผู้ป่วยเพิ่ม 33% ต่อวัน คาด 2 สัปดาห์พุ่งแตะหมื่นคน

หมอชง 'ล็อกดาวน์' ทุกจังหวัด ชี้ผู้ป่วยเพิ่ม 33% ต่อวัน คาด 2 สัปดาห์พุ่งแตะหมื่นคน

หมอรามาฯชี้หากผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 33% ต่อวัน จะถึงหมื่นคนใน 14 วัน แนะทุกจังหวัดล็อกดาวน์ สกัดไม่ให้ทะลุ 3.5 แสนคนใน 30 วัน ขณะ สธ.สั่งคัดกรองเข้มคน กทม.กลับภูมิลำเนา หลังพบต่างจังหวัดยอดสูงขึ้น หน่วยงานความมั่นคงค้านใช้พรบ.มั่นคง-พรก.ฉุกเฉิน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 มี.ค. 2563 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม 188 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 65 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 21 ราย ในจังหวัดกรุงเทพฯ เลย หนองบัวลำภู ปทุมธานี อุดรธานี ชลบุรี นนทบุรี พัทลุง แพร่ และสมุทรปราการ กลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย เป็นพนักงานร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ พนักงานต้อนรับที่ กทม. อุดรธานี เพชรบูรณ์ มีประวัติการทำงานแถวย่านทองหล่อ กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 37 ราย ที่สุโขทัย นนทบุรี ชลบุรี ปัตตานี สงขลา ขอนแก่น ปราจีนบุรี อุดรธานี และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 2 ราย ในจังหวัดนราธิวาส และยะลา

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 15 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศชาวต่างชาติ 8 ราย เป็นคนไทย 6 ราย และชาวสวิตเซอร์แลนด์ และอเมริกา ในจำนวนนี้มีหลายรายที่มีประวัติเดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปต ที่ประเทศกัมพูชา สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้, กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7 ราย 

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอสอบสวนโรค 108 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย เป็นชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร ผู้ป่วยอาการหนักมี 7 ราย จากสถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาลบาลเอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยสรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 45 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 553 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 599 ราย

  • หมอรามาฯ ชงล็อกดาวน์ทุกจว.

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.มียอดผู้ป่วยเพิ่ม 60 ราย หมายความว่าจำนวนผู้ป่วยเข้าใกล้อัตราเฉลี่ย 33% หากประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วย 33% ต่อวันต่อไป ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุข คือ ภายใน10 วันจะมีผู้ป่วยเพิ่มประมาณ 5,000 คน และหากยังมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มอีก 33% ต่อเนื่องจะเพิ่มเป็น 10,000 คนใน 14 วัน และภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มี.ค.) จำนวน จะมีประมาณ 351,948 ราย ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มี.ค.) จำนวน 52,792 ราย และผู้ป่วยวิกฤติภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มี.ค.) จำนวน 17,597 ราย

“ดังนั้นวิธีการจัดการไม่ให้เชื้อกระจายจึงต้องล็อกดาวน์ทุกจังหวัดไม่ให้ประชาชนเคลื่อนย้ายจะช่วยกันการแพร่กระจายของเขื้อได้ หากกักตัวเองได้14วัรจะช่วยลดการแพร่ของเชื้อได้ หากประชาชนหยุดอยู่กับที่ได้มากเท่าไหร่จะหยุดการแพร่กระเชื้อได้มากเท่านั้น”

  • “อยู่บ้าน” ป้องกันผู้ป่วยเพิ่ม

“รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ กล่าวว่า หากเรากดลงมาเหลืออัตราผู้ป่วยใหม่อยู่ที่เฉลี่ย 20% ต่อวัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มีนาคม) จะอยู่ที่จำนวน 24,269 ราย ผู้ป่วยที่ต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มี.ค.) จำนวน 3,640 ราย ผู้ป่วยวิกฤติภายใน 30 วัน (หลังจาก 15 มี.ค.) จำนวน 1,213 ราย” จะทำให้บุคลากรสาธารณสุขของไทย ไม่ต้องทำงานหนักมากจนเกินไป

ปัจจุบันมีแพทย์โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน รวม 37,160 คน พยาบาล 151,571 คน แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐ แพทย์ 29,449 คน พยาบาล 126,666 คน โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ 7,711 คน พยาบาล 24,905 คน

“ทุกวันนี้ที่กรมวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวินิจฉัยได้ประมาณ 5,000 ราย รพ.รามาตรวจได้ 1,200 ราย ที่อื่นประมาณ 1,000 และ 800 ตามขนาดของแล็บ ขณะที่มีผู้มาตรวจมากกว่าเกินกำลังของห้องปฏิบัติการ แต่หากว่าเราสามารถอยู่บ้าน ไม่เดินทาง จะช่วยป้องกันไม่ให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้”

  • คนกรุงอย่ากลับภูมิลำเนา

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยอดผู้ป่วยรายใหม่เป็นคนไทยพบมากในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว ที่อาการน้อยทำให้ยังมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น เมื่อป่วยเล็กน้อยก็จะทำให้เกิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมาก เช่น กรณีสถานบันเทิง และสนามมวย ล่าสุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการในจังหวัดปริมณฑลได้สั่งปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงเป็นการชั่วคราว

“ขอความร่วมมือทุกคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯราว 10 ล้านคน ให้หยุดอยู่บ้าน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และอย่าเดินทางกลับภูมิลำเนาเด็ดขาด เพราะมาตรการที่รัฐออกมานั้น ต้องการที่จะหยุดการเคลี่อนย้ายของคน เพราะอาจนำเชื้อโรคไปแพร่ให้คนต่างจังหวัด ซึ่งคนที่อยู่ที่บ้านในต่างจังหวัดจะมีกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

  • กำชับผู้ว่าฯเฝ้าระวัง

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ส่งหนังสือด่วน ลงวันที่ 21 มี.ค.2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขอความร่วมมือจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคระดับอำเภอและหมู่บ้านหลังจากที่ กรุงเทพฯและปริมณฑลสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบการเพิ่มของจำนวนผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.จัดตั้งทีมอาสาโควิด-19 ระดับอำเภอและหมู่บ้านเพื่อดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวัง 2.จัดทำฐานข้อมูลของผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มาถึงภูมิลำเนา ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.2563เป็นต้นไป

3.ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯและปริมณฑลเพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นในที่พำนักหรือที่พักอาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา 4.แจ้งผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

158495311855

  • ระบบขนส่งเข้มคัดกรอง

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ยังได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ขอความร่วมมือไปยังผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมขนส่งทางบก ให้ดำเนินการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล หากพบผู้มีไข้และอาการทางเดินหายใจ ขอให้งดการเดินทาง และแนะนำให้กลับไปพักเพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการอยู่ในที่พำนัก เป็นต้น

  • ห่วงตจว.ผู้ป่วยสูงขึ้น

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยนั้น จากเดิมพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ในช่วงตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นมาก จากวันที่ 19 มี.ค. ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 213 ราย ต่างจังหวัด 59 ราย วันที่ 20 มี.ค. เพิ่มเป็นกรุงเทพฯ 247 ราย ต่างจังหวัด 75 ราย วันที่ 21 มี.ค. กรุงเทพฯ284 ราย ต่างจังหวัด 127 ราย และวันที่ 22 มี.ค. กรุงทพฯ 363 ราย ต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 236 ราย จะเห็นว่าช่วง 4 วัน เพิ่มขึ้นถึง 177 ราย

นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดกำลังเพิ่มสูงขึ้น และถ้าไม่ทำอะไรอีกสักระยะหนึ่งจำนวนผู้ป่วยก็จะมากขึ้นอีกในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นการที่ให้คนกรุงเทพฯหยุดอยู่บ้านและไม่ไปต่างจังหวัดในช่วงเวลา 2 สัปดาห์นี้ วัตถุประสงค์หลักคือให้หยุดอยู่บ้านเพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น และใครที่อยู่ระหว่างการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ภายใน 2 สัปดาห์ก็จะหาย จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะทำให้กรุงเทพฯปลอดเชื้อ ไม่เพิ่มเชื้อ

  • ค้านใช้พรบ.มั่นคงคุมโควิด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปิดประเทศหลายครั้ง พร้อมหารือเกี่ยวกับกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้ หากรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศปิดประเทศ โดยหยิบยก พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาบังคับใช้ เพื่อให้อำนาจแก่พนักงาน-เจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตามหน่วยงานความมั่นคง ทักท้วงว่า หากใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาบังคับใช้ จะไม่เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และถูกจับตาจากองค์กรต่างประเทศ จึงเสนอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งการ หรือออกคำสั่งต่างๆ มากขึ้น และเชื่อว่าหากผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้อำนาจได้อย่างมีศักยภาพ