'หมอทวี' ชี้มาตรการดีสุดสู้ 'โควิด-19' ไม่เคลื่อนย้ายคน
"เทวัญ" รับรัฐบาลห้าม ปชช. กลับต่างจังหวัด ด้าน "หมอทวี" รับสู้ "โควิด-19" รุนแรงสุดเท่าที่เคยเห็น ชี้ไม่เคลื่อนย้ายคนเป็นมาตรการดีสุด ถามปิดหมด 5 เดือน เอาหรือไม่
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.63 เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์ข้อมูลโควิด –19 ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีที่ กทม.ประกาศปิดสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย. ทำให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงแรงงานต่างด้าวว่า รัฐบาลไม่สามารถห้ามที่จะไม่ให้เดินทางกลับได้ แต่รัฐบาลมีมาตรการรองรับ
โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทำแผนระดับอำเภอ หมู่บ้าน ตำบล ให้ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาแยกตัวสังเกตอาการ 14 วัน หากประชาชนคนใดยังไม่ได้กลับ ขอความร่วมมือว่าอยากให้อยู่ กทม.และปริมณฑล ไปก่อน เพราะถ้าท่านกลับบางครั้งอาจไม่ทราบตัวเองว่าติดเชื้อ และเป็นพาหะไปยังญาติพี่น้อง ถ้ายังอยู่ กทม.และปริมณฑลได้ ทางรัฐบาลอยากให้ช่วยอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือจากจีน โดยมีการส่งชุดตรวจโรค 2 หมื่นชุด หน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 2 หมื่นชิ้น ชุดป้องกัน 2 หมื่นชุด และในวันที่ 24 มี.ค.กระทรวงการคลังจะนำมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่มีการแชร์ภาพสถานีขนส่งหมอชิตมีคนกลับภูมิลำเนาจำนวนมากนั้น พบว่า 90% ที่เดินทางกลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านชายแดน อาทิ ชาวเมียนมาร์ ชาวลาว และมี 10% ที่เป็นชาวไทยซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา และ 3 วันที่ผ่านมาตัวเลขผู้ที่เดินทางกลับมีเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติแค่ 10%
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ต่อสู้กับโรคระบาดมา 20 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่โรคระบาดรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา จึงอยากเห็นความร่วมมือร่วมใจเราถึงจะสามารถบรรเทาได้ ตอนนี้ไม่มีทางกำจัดออกไปแล้ว เพราะได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก วิธีบรรเทาคือทำตามมาตรการที่ออกมา ส่วนคำถามที่ว่าโรคโควิด-19 จะแพร่เชื้อทางอากาศได้หรือไม่นั้น ละอองขนาดใหญ่ที่ออกจากผู้ติดเชื้อจะกระจาย 1-2 เมตร แต่มีละอองขนาดเล็กที่ไปไกลถึง 10 เมตร
จึงมีความเป็นไปได้ที่จะกระจายทางอากาศ แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ผู้ที่ไอแรงมาก มีอาการหอบจะแนะนำให้ใช้หน้ากาก N 95 แต่ละอองขนาดใหญ่นั้น ใช้หน้ากากอนามัยปกติ เว้นระยะห่างทางสังคมจะช่วยได้ นอกจากนี้ ขอให้คำแนะนำประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนานั้น อยากให้ทยอยกลับ อย่าเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่มาก เพราะโอกาสแพร่เชื้อค่อนข้างสูง เมื่อไปถึงบ้านควรล้างมือเป็นอันดับแรก อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่หน้ากาก แล้วค่อยมาทักทายครอบครัว รวมทั้งควรกักตัวเอง 14 วันอย่างเคร่งครัด ต้องระวังตัวเองไม่ให้ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จะมีมาตรการเพิ่มอะไรจากนี้หรือไม่ เพราะประชาชนยังเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา นพ.ทวี กล่าวว่า การไม่ให้คนเคลื่อนย้ายคือมาตรการที่ดีที่สุด แต่บางประเทศบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยให้ไหลไป ถ้าเป็นเช่นนั้นมีการประเมินว่า ประเทศอังกฤษจะมีผู้เสียชีวิตถึง 5 แสนคน สหรัฐอเมริกา 2 ล้านคน มาตรการที่ 2 คือ ให้บรรเทา ชะลอ การแพร่ระบาด ซึ่งไทยกำลังใช้วิธีนี้อยู่ และมาตรการที่ 3 ไม่ให้ไปไหนเลย ปิดหมดทุกอย่าง จำกัด 95% ซึ่งต้องใช้เวลา 5 เดือน เอาหรือไม่ ไม่ให้ไปไหนเลย วันนี้ไทยใช้มาตรการที่ 2 โดยประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาก็ใช้วิธีนี้อยู่
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้วางกรอบให้มีทีมค้นหาและเฝ้าระวังระดับตำบล สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจาก กทม. โดยมีกำนัน แพทย์ผู้ช่วย คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระดับตำบลกระจายไปทุกหมู่บ้าน เพื่อจัดทำข้อมูลคนที่เดินทางกลับ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจว่าควรแยกตัวเฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน หากพบว่าใครมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ต้องรีบแจ้งเพื่อให้ สธ.ดำเนินการทางการแพทย์ นอกจากนี้ เรามีมาตรการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมี อสม.ไปให้คำแนะนำเป็นพิเศษ ยืนยันทุกจังหวัดมีความพร้อมที่จะรองรับพี่น้องประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนา และทีมเหล่านี้มีการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค หากใครไม่ดำเนินการกักตัวหรือฝ่าฝืน จะมีความผิด โทษทั้งจำทั้งปรับ สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารในห้างและนอกห้างยังเปิดให้บริการตามปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องการเบิกเงิน ตู้เอทีเอ็มทุกตู้เรายังดูแลเติมเงินอยู่สม่ำเสมอ เรื่องดังกล่าวตนได้เรียนผู้ว่าฯกทม.ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตัวเลขการใช้เงินสดลดลง เพราะมีไอแบงก์กิ้งและพร้อมเพย์ ทำให้การธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านรายการต่อวัน เนื่องจากคนหลีกเลี่ยงที่จะจับเงินสด เพื่อป้องกันโควิด -19
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนไม่ได้ออกครั้งเดียวจบ โดยที่ ครม.อนุมัติครั้งก่อนเป็นครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 จะมีการเสนอในที่ประชุม ครม.วันที่ 24 มี.ค.นี้ และจะมีครั้งที่ 3 และต่อเนื่องไป ซึ่งนอกจากมาตรการเยียวยาแล้ว นายกฯได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนฟื้นฟูเมื่อสถานการณ์ใกล้เคียงปกติ จะมีมาตรการออกมาเป็นระลอกเพื่อดูแลทุกกลุ่ม ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด