ป้องกันผู้สูงอายุติดโควิด วัยทำงานอย่านำเชื้อเข้าบ้าน
เผยผู้ป่วยโควิดอาการหนัก 17 ราย 50% เป็นคนที่มีอายุเกิน 70 ปี ขึ้นไปและมีโรคประจำตัวมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 10% ส่วนผู้ป่วยอายุน้อย จะเสียชีวิตน้อยกว่า 1%
วันนี้ (28 มี.ค.2563) นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19(COVID-19)ว่าขณะนี้มีได้รับรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 55 ปี มีประวัติเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี และไขมันในเลือดสูง เป็นผู้ป่วยกรุงเทพฯ ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 109 ราย รวมยอดสะสม 1,245 ราย มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่ม 3 ราย รวมยอดกลับบ้าน 100 ราย อยู่โรงพยาบาล 1,139 ราย และมีผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยเพิ่ม 109 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 39 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 10 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 8 ราย ซึ่งในส่วนของสถานบันเทิงนั้นนอกจากพบในกรุงเทพฯ แล้ว ยังพบผู้ป่วยจากสถานบันเทิงจ.ศรีสะเกษอีกด้วย และกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 21 ราย กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 17ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 8 ราย เป็นคนไทย 6 รายและต่างประเทศ 2 ราย , กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติสอบสวนโรค 53 ราย ทั้งในส่วนของ จ.เชียงราย นนทบุรี สมุทรสาคร ภูเก็ต นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร
นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวต่อว่าสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่ม 17 รายนั้น เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ กลาโหม และกทม.จำนวน 12 ราย และอีก 5 ราย รักษาที่ต่างจังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ อายุเฉลี่ยระหว่าง 31-76 ปี และมีประวัติทำงานที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว อาทิ ขับรถบริการ พนักงานร้านนวด และสนามมวย
นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวอีกว่าจากการวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,245 ราย พบว่า มีผู้ติดเชื้ออายุน้อยสุด คือ 6 เดือน มากสุด 84 ปี และมีอายุเฉลี่ย 40 ปี โดยจะพบในส่วนของช่วงอายุน้อย อย่าง กลุ่มอายุ 20-29 ปี อายุ 30-39 ปี และอายุ 40-49 ปี เนื่องจากพบผู้ป่วยที่มาจากเหตุการณ์ในสถานบันเทิง สนามมวย และมีความชัดเจนว่า ตอนนี้มีผู้ป่วยติดเชื้ออายุต่ำกว่า 19 ปี โดยมีตั้งแต่ 0-9 ปี และอายุ 10-19 ปี และผู้ป่วยติดเชื้อเพศชายมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด -19 ซึ่งผู้ป่วยจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ 3 เหตุการณ์ ที่ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก มาจากผู้ป่วยที่สถานบันเทิง สนามมวย และพิธีบุญจากมาเลเซีย แต่อัตราการมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในลักษณะคงที่ โดยอยู่ประมาณหลักร้อยเท่านั้น
นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้พบการป่วยกระจายใน 57 จังหวัด โดยพบในกทม.มากที่สุด 515 คน นนทบุรี 48 คน ภูเก็ต 41 คน ยะลา 40 คน ชลบุรี. 36 คน สมุทรปราการ และปัตตานี 33 คน สงขลา 27 คน ปทุมธานี 14 คน อุบลราชธานี 12 คน เชียงใหม่ 11 คน สุราษฎร์ธานี 10 คน กาญจนบุรี /บุรีรัมย์ 9 คน โดยเมื่อเปรียบเทียบการป่วยโควิด เมื่อ 12-18 มีนาคม ช่วงแรกพบการป่วยในกทม. แต่ในสถานการณ์ 19 -28 มี.ค.2563 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนระหว่างผู้ป่วยต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ นั้น พบว่ามีผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ประมาณ 50.7% และมีผู้ป่วยต่างจังหวัด 49.3% และมีการป่วยกระจายไปหลายจังหวัดทำให้มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น อยากให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาด และปฎิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากภาพรวมทั้งโลกถ้ามีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 100 ราย ในจำนวนดังกล่าวผู้ป่วย 80 รายจะมีอาการน้อยและหายเองได้ แต่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 20 ราย และมีผู้ป่วยอาการหนัก 5 ราย และใน 5 รายนี้ จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งในส่วนของประเทศไทย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย เท่ากับมีอัตราการตาย 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากและกลุ่มผู้เสียชีวิต จะเป็นผู้ป่วยที่มีอายุมาก โดยในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 17 ราย ประมาณ 50% จะเป็นคนที่มีอายุเกิน 70 ปี ขึ้นไปและมีโรคประจำตัว ดังนั้น อยากจะรณรงค์ให้ทุกคนปกป้องไม่ให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโควิด-19 และใครมีญาติผู้ใหญ่ในบ้านต้องดูแลญาติผู้ใหญ่ไม่ให้ป่วย หรือรับเชื้อ
"ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่จะอยู่บ้าน และคนวัยทำงานที่อยู่นอกบ้าน ฉะนั้นคนที่อายุน้อยกว่า คนวันทำงานจะเป็นผู้นำเชื้อเพราะต้องออกนอกบ้าน จึง อยากแนะนำคนที่ออกนอกบ้าน หรือคนที่พึ่งกลับบ้านไปยังภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ควรแยกตัวออกจากกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้เป็นการแพร่เชื่อไปสู่ญาติผู้ใหญ่ในต่างจังหวัด และหากมีอาการป่วยต้องรีบพบแพทย์ เพื่อจะได้เข้ารับการรักษา หรือซักประวัติ แพทย์จะได้มีข้อมูลมาวินิจฉัย ส่งห้องปฎิบัติการได้ตรงกับโรคมากที่สุด"
"นอกจากนั้น ควรระมัดระวังผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต หรือคนที่รักษามะเร็ง ซึ่งมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนปกติทั่วไป คนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะหากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากเป็นทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวก็จะทำให้มีอาการป่วยและเสียชีวิตมากกว่า 10% และอายุน้อย มีอาการป่วยและเสียชีวิตน้อยกว่า 1% จึงอยากแนะนำให้ทุกคนดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดโรคมากขึ้น รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต" นายแพทย์โสภณ กล่าว
นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่าโรคนี้ควบคุมยาก เพราะเป็นการติดต่อทางเดินหายใจ แต่ที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ก็ทำให้ลดการแพร่ระบาด และมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ทั้งนี้ สำหรับการพบผู้ป่วยในต่างจังหวัดนั้น ช่วงแรกที่พบจะเป็นผู้ป่วยต่างจังหวัดที่เดินทางมากรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาสนามมวย หรือมาทำงานในสถานบันเทิง แต่ในระยะถัดมา เริ่มมีคนติดเชื้อในพื้นที่ และไม่ได้เดินทางมาในกรุงเทพฯ โดยจะติดเชื้อจากผู้ที่กลับจากกรุงเทพฯ หรือคนที่ทำงานจากต่างประเทศ เช่น คนขับแท็กซี่ หรือพนักงานเสริฟ เป็น ฉะนั้น ในส่วนของต่างจังหวัด จะเริ่มมีผู้ติดเชื้อในเขตปริมณฑลและเมื่อกรุงเทพฯ ปิดสถานประกอบการต่างๆ ทำให้ประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัด จึงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตามระยะการฟักตัวของเชื้อ เพื่อลดการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น